11-03-2564

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เดินหน้าสอนวิชาประวัติศาสตร์ พร้อมพัฒนาสื่อการสอนให้ทันสมัย

   นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวว่ามีการถอดวิชาประวัติศาสตร์และวิชาหน้าที่พลเมืองออกจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่า เนื้อหาวิชาดังกล่าว ยังอยู่ในหลักสูตรปัจจุบัน และหลักสูตรฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง ซึ่งวิชาประวัติศาสตร์จัดเป็นวิชาบังคับ กำหนดให้ต้องเรียนทุกระดับชั้นตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- มัธยมศึกษาปีที่ 6 โดย ชั้น ป.1-ม.3 มีเวลาเรียน 40 ชั่วโมงต่อปี หรือสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ส่วนชั้น ม.4-ม.6 มีเวลาเรียน 80 ชั่วโมง

   สำหรับวิชาหน้าที่พลเมือง ถือเป็นสาระบังคับเช่นกัน โดยชั้น ป.1-ป.6 จะเรียนรวมกับอีก 3 สาระ รวมเรียกว่าวิชาสังคมศึกษา มีเวลาเรียน 80 ชั่วโมงต่อปี หรือ สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ชั้น ม.1-ม.6 อาจจัดแยกเป็นวิชา หรือรวมสาระได้ โดยชั้น ม.1-ม.3 มีเวลาเรียนรวมทั้ง 4 สาระ 120 ชั่วโมงต่อปี หรือสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง และ ม.4-ม.6 รวม 3 ปีเรียน 240 ชั่วโมง นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังมีนโยบายให้เรียนหน้าที่พลเมืองที่เน้นการปฏิบัติเพิ่มอีกสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง โดยอาจจะบูรณาการกับวิชาพื้นฐานวิชาเพิ่มเติม เช่น ข้อมูลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ วิธีการทางประวัติศาสตร์ พัฒนาการของมนุษยชาติจากอดีตถึงปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์สำคัญในอดีต สถาบันพระมหากษัตริย์ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย

   เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สพฐ. ได้พัฒนาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ให้มีความทันสมัยมากขึ้นด้วยการสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนตามนโยบายการอ่าน การเขียน เรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย ของ ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาสื่อเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง การพัฒนาสื่อเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง การใช้สื่อวีดิทัศน์เพื่อเข้าถึงตัวอย่างเนื้อหาประวัติศาสตร์ เป็นต้น