11-03-2564

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บูรณาการทุกภาคส่วนเพิ่มความเข้มข้นแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่น PM2.5

   นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า หลายพื้นที่ ในภาคเหนือเกิดสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5 อย่างต่อเนื่อง กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. ได้บูรณาการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างเต็มกำลัง โดยในส่วนของพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ตลอดจนพื้นที่จังหวัดในภาคอื่นๆ ที่มีพื้นที่เสี่ยง ซึ่งได้กำชับให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ให้สอดคล้องตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ภายใต้มาตรการ “4 พื้นที่ 5 มาตรการบริหารจัดการ” โดยเน้นการบูรณาการแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยในห้วงเดือนมกราคม - เดือนเมษายน 2564 ปภ. ได้ร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่องเพื่อวางแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ขณะนี้ได้เพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติการโดยจัดทีมประเมินสถานการณ์ติดตามและประเมินสถานการณ์เป็นประจำทุกวัน พร้อมกำชับพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือและพื้นที่ที่มีพื้นที่ป่าให้ถือปฏิบัติตามมาตรการ “4 พื้นที่ 5 มาตรการบริหารจัดการ” อย่างเคร่งครัด รวมถึงได้เพิ่มความเข้มงวดควบคุมการเผาในพื้นที่โล่งทุกประเภท โดยได้ประสานสั่งการให้ 17 จังหวัดภาคเหนือ ใช้ระบบบัญชาการดับไฟป่าผ่านทาง Line chatbot (ไลน์แช็ทบ็อท) “FiremanTH” (ไฟร์แมนทีเอ็ช) เพื่อเพิ่มช่องทางในการบัญชาการดับไฟป่าของผู้บัญชาการเหตุการณ์ทั้งในระดับจังหวัด และอำเภอ รวมถึงยังเป็นการเสริมประสิทธิภาพในการเผชิญเหตุของผู้ปฏิบัติงานดับไฟป่าในพื้นที่

   นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มช่องทางในการแจ้งเหตุสาธารณภัย ผ่าน Official Line “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” พร้อมทั้งประสานให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแจ้งเหตุไฟป่าเพื่อให้การระงับเหตุเป็นไปอย่างทันท่วงที สนับสนุนทรัพยากรเครื่องจักรกลพร้อมเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ แก้ไขไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน รวมถึงได้ประสานการปฏิบัติการผ่านกลไกของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยให้จังหวัดเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการ นำข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์และวางแผนการปฏิบัติการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งเน้นย้ำการปฏิบัติการผ่านระบบ Line Chatbot FiremanTH (ไฟร์แมนทีเอ็ช) รวมถึงประสานจังหวัดให้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดทีมประเมินสถานการณ์เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึก โดยให้ Monitor ข้อมูลจุดความร้อน (Hotspot) ตามวงรอบการรายงานข้อมูลดาวเทียมของ GISTDA (จิสด้า) ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถวางแผนการบริหารจัดการในเชิงพื้นที่และเสริมประสิทธิภาพการติดตามข้อมูลและการบัญชาการเหตุการณ์แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด