02-04-2564

คณะรัฐมนตรี รับทราบแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว โดยปรับลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน

   นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นผลจากที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ถึงหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 จะเริ่มรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจังหวัดนำร่องที่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา พัทยา เชียงใหม่ ที่ได้รับการรับรองว่าได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีผลการตรวจโควิด-19 เป็นลบสามารถเข้ารับการกักตัวภายในที่พัก โรงแรม เป็นเวลา 7 วันก่อน จึงจะสามารถเดินทางออกจาก โรงแรมที่พักได้ และตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป จะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบทั้ง 2 โดส หรือครบตามจำนวน สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตได้ โดยไม่ต้องเข้ารับการกักตัว ส่วนนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดอื่นที่นำร่องยังคงได้รับการกักตัว 7 ตัว และตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปยังพื้นที่นำร่องในจังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา พัทยา เชียงใหม่ ไม่ต้องเข้ารับการกักตัว และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยและมีใบรับรองการฉีดวัคซีน หรือ certificate จากประเทศต้นทางครบตามจำนวนแล้ว ไม่ต้องเข้ารับการกักตัวอีกต่อไป

   โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังรับทราบเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2564 ของสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ที่ร้อยละ 4.0 โดยมีมาตรการที่จะต้องเร่งรัดดําเนินการเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย ประกอบด้วยมาตรการด้านการส่งออกสินค้า /มาตรการด้านการท่องเที่ยว มาตรการด้านลงทุนภาคเอกชน มาตรการด้านการลงทุนภาครัฐและมาตรการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงความคืบหน้าการดำเนินกิจกรรมด้านเศรษฐกิจทั้งประชาชน แรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการเร่งรัดการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมจาก BOI (บีโอไอ)

   การลดอุปสรรคทางการลงทุนในประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุน 4 อุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรม ยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพ และอุตสาหกรรมดิจิทัล คลาวด์ การดําเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก และการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น