09-08-2564

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดตัว “ระบบดูแลและติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 แบบแยกตัว

   ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. เปิดเผยว่า อว. โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พัฒนา “ระบบการดูแล และติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 แบบแยกตัว” เป็นที่สำเร็จ เพื่อใช้บริหารจัดการกลุ่มผู้ป่วยแบบแยกตัว ทั้งแบบการกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation) / การดูแลตนเองในระบบชุมชน หรือ Community Isolation และยังเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้มากขึ้น รวดเร็วขึ้น สามารถติดตามดูแลอาการผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด สะดวกทั้งต่อผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ โดยจุดเด่นของระบบนี้ คือ 1. ผู้ป่วยไม่ต้องติดตั้งแอปพลิเคชั่นใหม่ในโทรศัพท์ ยกเว้นกรณีไม่มีแอปพลิชั่นไลน์ 2. บัญชีผู้ใช้ไลน์หนึ่ง ๆ สามารถใช้กับผู้ป่วยได้หลายคน 3. บันทึกข้อมูลระบบได้รวดเร็ว โดยให้กรอกเฉพาะข้อมูลสัญญาณชีพและอาการ เนื่องจากระบบเชื่อมบัญชีไลน์กับฐานข้อมูลผู้ป่วยแล้ว และ 4. เป็นไปตามมาตรฐานการแพทย์ทางไกล สากล (Tele-medicine)

   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวต่อไปว่า ผู้ป่วยที่จะเข้ามาอยู่ในระบบนี้ได้จะต้องได้รับการยืนยันจากโรงพยาบาล ว่าติดเชื้อโควิด-19 แล้ว หรือ เป็นผู้ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามแล้ว และแพทย์ประเมินว่าเป็นกลุ่มไม่มีอาการ หรือ อาการน้อย (สีเขียว) ยินยอมเข้าสู่ระบบการดูแลและติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 แบบแยกตัว โดยหลังจากได้ลงทะเบียน เชื่อมบัญชีผู้ใช้ไลน์กับฐานข้อมูลคนไข้แล้ว ระบบจะติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยผ่านบัญชีไลน์ส่วนบุคคลกับบัญชีไลน์ของโรง พยาบาลที่รับรักษา ซึ่งบัญชีไลน์ส่วนบุคคลของผู้ป่วย จะใช้ในการรับแจ้งเตือนการส่งสัญญาณชีพ ส่งอาการ ปรึกษาแพทย์ แจ้งขอความช่วยเหลือ สั่งอาหาร และอื่น ๆ เกี่ยวกับการสื่อสารกับโรงพยาบาล ส่วนบัญชีไลน์ของทางโรงพยาบาลจะใช้สำหรับให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าเวร ใช้ในการสื่อสาร ติดตาม หรือให้คำปรึกษากับผู้ป่วย และให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องใช้ประสานงานกับผู้ป่วยเช่น งานเอกสาร การรับส่งยา หรือการส่งอาหาร เป็นต้น