26-08-2564

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ผนึกกำลังบูรณาการความรู้ จัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ ครั้งที่ 10

 

 พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จัดกิจกรรมกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ ครั้งที่ 10 ประจำปี 2564 โดยครั้งนี้ได้ขยายโอกาสให้แก่เยาวชนภาคตะวันออกเป็นครั้งแรก โดยขอแสดงความยินดีกับเยาวชนทั้ง 17 ทีม จากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมและได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากเทคโนโลยีชั้นสูงจากผู้มีประสบการณ์ตรง แม้กิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นการเรียนรู้ที่ต้องศึกษาด้วยตนเองจากสื่อการสอนออนไลน์ โดยมีพี่เลี้ยงช่วยให้คำแนะนำให้กับเยาวชนในแต่ละทีม ซึ่งทุกทีมแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตนเอง ในการศึกษา เรียนรู้ และประดิษฐ์จรวดได้เป็นอย่างดี ซึ่งความพิเศษของกิจกรรมในครั้งนี้ คือ เยาวชนได้มีโอกาสนำความรู้ที่ได้รับจากภาคทฤษฎี มาลงมือปฏิบัติ ทั้งการออกแบบโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยคำนวณ ควบคู่ไปกับการใช้หลักการทางวิศวกรรมออกแบบจรวดที่ต้องนำไปยิงจริง โดยจรวดที่เยาวชนออกแบบมาจะต้องประสบพบเจอกับสภาพแวดล้อมที่รุนแรงไม่แพ้สภาพที่อุปกรณ์ในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศจริง ๆ จะต้องประสบ ทั้งความเร่งหรือแรง G ที่มหาศาล การสั่นสะเทือน แรงช็อคจากการระเบิด อุณหภูมิสูงนับพันองศา จรวดจะต้องทนได้และทำภารกิจได้สำเร็จ เมื่อได้แบบจรวดมาแล้ว ต้องลงมือสร้างเอง ออกแบบให้สวยงาม แล้วจึงนำไปทดสอบตามกระบวนการ ก่อนนำไปยิงแข่งขัน ซึ่งเยาวชนที่ผ่านค่ายนี้ไปแล้วนั้น จะมีประสบการณ์ และมีความรู้ ความเข้าใจในความท้าทายของกระบวนการออกแบบและสร้างอุปกรณ์ในชีวิตจริง ซึ่งเป็นพื้นฐาน ที่ช่วยให้ เยาวชน เติบโตไปสร้างผลงานนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริง นอกจากความรู้ในด้านการประดิษฐ์จรวดแล้วทุกทีมยังมีโอกาสได้ฝึกคิดในเรื่องของการนำเสนอ การเรียงลำดับความคิด และการสร้างสรรค์วิธีนำเสนอแนวคิด ผ่านสื่อ VDO Presentation ซึ่งเป็นการนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์รูปแบบใหม่ที่มีความจำเป็นและสำคัญในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทักษะที่ทุกคนจะต้องฝึกฝน เพื่อใช้ในการนำเสนอหรือสื่อสารเพื่อความสำเร็จในอนาคต

   ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งเป็นผู้ร่วมดำเนินการจัดค่ายในครั้งนี้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ขอแสดงความยินดีกับทั้ง 17 ทีมที่ได้เข้ารอบและได้ก้าวผ่านความท้าทายในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ในสถานการณ์ COVID-19 แต่ทุกทีมสามารถทำได้ดีและมีการนำเอาวิชาความรู้ที่มีอยู่เดิมมาผนวกกับความรู้ประสบการณ์ของพี่เลี้ยง มาพัฒนาจนออกมาเป็นจรวดประดิษฐ์ขึ้นมาได้ ถือว่าเป็นประสบการณ์ในชีวิตที่มีค่าในการที่ได้นำมาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาทำให้เกิดเป็นสิ่งประดิษฐ์จริง สรรสร้างเป็นนวัตกรรมที่นำให้โลกมีการพัฒนาก้าวหน้า เทคโนโลยีอวกาศและจรวดไม่ใช่แค่การส่งจรวดขึ้นไปสู่อวกาศเพียงเท่านั้นแต่ยังมีเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องอีกมากมาย มีศาสตร์ทางวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาจากเทคโนโลยีจรวด ไม่ว่าจะเป็นวัสดุศาสตร์ขั้นสูง การคิดค้นวัสดุใหม่ที่สามารถระบายความร้อนได้ดี ทนการเสียดสี หรือมีความแข็งแรงที่มากพอที่จะป้องกันตัวจรวดของเราให้รอดพ้นจากผลกระทบภายนอก ในช่วงเวลาของการส่งจรวดขึ้นไป รวมถึงระบบการขับเคลื่อนมอเตอร์ พวกดินขับ หรือสารเคมีเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งทั้งสิ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีที่ทุกทีมจะได้นำเอาเทคโนโลยีและความรู้เหล่านี้ไปต่อยอดความสำเร็จ