31-08-2564

สำนักงาน กศน.พัฒนาหลักสูตรอาชีพครบรสตอบโจทย์คนว่างงาน

   นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. กล่าวว่า ตามที่นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดนโยบายการจัดการศึกษาและภารกิจเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อนการจัดการศึกษาที่มุ่งพัฒนาทักษะทางอาชีพ ส่งเสริมการจัดการศึกษาที่เน้นพัฒนาทักษะอาชีพของผู้เรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพและรายได้ รวมทั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กศน. ดำเนินการส่งเสริมการจัดการศึกษาพัฒนาอาชีพเพื่อการมีงานทำ Re - Skill และ Up - Skill ให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักงาน กศน. จึงได้จัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาอาชีพ Re - Skill และ Up - Skill ใน 5 กลุ่มอาชีพขึ้น ได้แก่ กลุ่มอาชีพเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรมและบริการ ความคิดสร้างสรรค์ และอาชีพเฉพาะทาง รวมจำนวนทั้งสิ้น 10 หลักสูตร เพื่อให้สถานศึกษาหรือผู้จัดกิจกรรมนำไปใช้ในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาตามนโยบายดังกล่าว

   สำหรับการจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาอาชีพ Re - Skill และ Up - Skill เราคำนึงถึงสภาพปัญหา และความต้องการของสถานศึกษาและประชาชนในพื้นที่ท่ามกลางสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นสำคัญ จึงได้มอบหมายให้กลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาวางแผนขับเคลื่อนโครงการนี้ขึ้น ภายใต้แนวคิดที่ใช้บริบทของชุมชน และทรัพยากรที่จำเป็นในพื้นที่ เป็นฐานการออกแบบการดำเนินงานพัฒนาหลักสูตรที่จำเป็นเพื่อตอบโจทย์ในภาวะเช่นนี้ โดยเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมต่างๆที่กำลังเป็นกระแสและความต้องการใกล้ตัว เช่น ผลผลิตทางเกษตรกรรม ซึ่ง กศน.ได้มีการปูพรมในการระดมสรรพกำลังของหน่วยงาน สถานศึกษาของเราเพาะพันธุ์และแจกจ่ายฟ้าทะลายโจรให้แก่ประชาชนไปแล้วทั่วประเทศกว่าล้านต้น ตามนโยบาย กศน. ห่วงใยร่วมต้านภัยโควิด-19 ในกิจกรรมล้านเมล็ดพันธุ์ สู้ภัยโควิด ที่ผ่านมา ดังนั้นการพัฒนาหลักสูตรนี้ จึงนับว่าเป็นโครงการที่เชื่อมโยง โดยนำพืชสมุนไพรที่จำเป็นมาขยายผลเพื่อนำไปสู่การมีอาชีพได้อย่างลงตัวไม่ว่าจะเป็น ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน ขิง กระชาย และมะขามป้อม เป็นต้น ซึ่งถือว่าอยู่ในเทรนด์ความสนใจของประชาชนในขณะนี้ เปรียบเสมือนเป็นอาชีพต้นน้ำ และนำมาสู่การพัฒนาและขยายผลเชื่อมโยงเป็นอาชีพกลางน้ำและปลายน้ำ ตามลำดับ โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนใน 5 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ อาชีพเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรมและบริการ ความคิดสร้างสรรค์ และอาชีพเฉพาะทาง รวมจำนวนทั้งสิ้น 10 หลักสูตรพร้อมเอกสารประกอบหลักสูตรทุกหลักสูตรไม่ว่าจะเป็นใบความรู้ ใบงาน คลิปวิดีโอ เป็นต้น  เพื่อให้สะดวกและง่ายต่อการนำไปใช้ ดังนี้ กลุ่มหลักสูตรอาชีพเกษตรกรรม ประกอบด้วย หลักสูตรการปลูกพืชสมุนไพรพื้นบ้าน ฟ้าทะลายโจร / หลักสูตรการปลูกพืชสมุนไพรพื้นบ้านขมิ้นชัน / หลักสูตรการทำอาหารคาวเพื่อสุขภาพ / หลักสูตรการทำอาหารหวานเพื่อสุขภาพ หลักสูตรการทำอาหารว่างเพื่อสุขภาพ / หลักสูตรการทำเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ / กลุ่มหลักสูตรอาชีพอุตสาหกรรม ในหลักสูตรการออกแบบ/พัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างง่าย /กลุ่มหลักสูตรอาชีพพาณิชยกรรมและบริการในหลักสูตรการขายของออนไลน์ผ่านช่องยูทูบ (YouTube) / กลุ่มหลักสูตรอาชีพความคิดสร้างสรรค์ ในหลักสูตรการทำแอปพลิเคชัน (Application) เพื่อการค้าออนไลน์ และกลุ่มหลักสูตรอาชีพเฉพาะทาง ในหลักสูตรเส้นทางสู่การเป็น “ยูทูบเบอร์” (YouTuber)

   นอกจากนี้ กศน.ยังได้ผลิตสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบของคลิปวิดีโอ เพื่อใช้ประกอบการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรต่าง ๆ อีกจำนวน 24 ตอน ในชื่อรายการ “ต่อยอดอาชีพ”และพัฒนาระบบหลักสูตรเพื่อการพัฒนาอาชีพ Quick - Win (ต่อยอดอาชีพ) โดยดำเนินการออกแบบและพัฒนา platform ในรูปแบบ On Pc และ On mobile application เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเพื่อนำไปใช้ประกอบการจัดการเรียนรู้ และส่งเสริมการมีอาชีพเพื่อสร้างรายได้ ได้ตามลิงค์ http://pattana.nfe.go.th/quick-win และรูปแบบ Mobile application “ต่อยอดอาชีพ” ในระบบ Android ผ่าน google play store ซึ่งสามารถรองรับโทรศัพท์ในระบบ android Version 5.1 – version ปัจจุบัน

   ด้าน นางเอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา (กพ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับหลักสูตรทั้ง 10 หลักสูตร เราได้วางแผนและพัฒนาหลักสูตรนี้ขึ้น เพื่อมุ่งหวังให้ผู้เรียนและประชาชนที่สนใจสามารถนำไปต่อยอดและพัฒนา สร้างอาชีพต่อไปได้ตามความสนใจใน 5 กลุ่มอาชีพ และเพื่อให้สถานศึกษาหรือผู้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ สามารถนำไปใช้ในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาตามนโยบายดังกล่าว ตลอดจนมีความเข้าใจถึงความเป็นมา หลักการ จุดหมาย โครงสร้างเนื้อหาของหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล และการจบหลักสูตร สถานศึกษาสามารถวางแผนจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความพร้อม ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงสภาพความแตกต่างของผู้เรียนได้ทั้งรายบุคคลหรือรายพื้นที่ กล่าวคือ ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนหลักสูตรที่ตนสนใจในหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งหรือเรียนหลายหลักสูตร ทั้งหลักสูตรต้นน้ำ กลางน้ำ และหลักสูตรปลายน้ำควบคู่กันไปได้ และเช่นเดียวกันการจัดการเรียนรู้ในระดับพื้นที่ สถานศึกษาสามารถจัดการเรียนรู้เป็นชุมชน โดยที่ชุมชนหนึ่งเรียนหลักสูตรต้นน้ำ ชุมชนต่อมาเรียนหลักสูตรปลายน้ำหรือหลักสูตรกลางน้ำตามความสนใจและความถนัดของประชาชนในชุมชน หรืออาจจัดให้เรียนหลักสูตรต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำในชุมชนเดียวกันก็ได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มอาชีพในชุมชน เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนในการประกอบอาชีพและการสร้างรายได้ให้กับตนเองและชุมชน และสำหรับระบบการเรียนรู้ผ่าน platform ในรูปแบบ On Pc และ On mobile application นั้น เราจะมีการUpdate และพัฒนาสื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นตัวช่วยให้แก่ครูผู้สอน ผู้เรียนและประชาชนผู้สนใจในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้ครอบคลุมในทุกๆ ด้านต่อไป ทั้งนี้ สถานศึกษา ภาคีเครือข่าย รวมถึงนักศึกษา หรือประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจสามารถเรียนรู้และเข้าใช้งานได้ที่เว็บไซต์ของกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา http://pattana.nfe.go.th/quick-win และ platform ในรูปแบบ Mobile application “ต่อยอดอาชีพ” ในระบบ Android Version 5.1 – version ปัจจุบัน หรือลิงค์ https://play.google.com/store/apps/details?id=chaloemphon.example.torcareer และ QR Code นี้