17-12-2564

รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แจง สพฐ.ไม่ได้ตัดวิชาพระพุทธศาสนา ออกจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

   ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. เปิดเผยถึงกรณีที่มีเสียงสะท้อนจากประชาชนกลุ่มหนึ่ง เกี่ยวกับความกังวลในเรื่องการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนา และศาสนาต่างๆจะถูกตัดออกจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น เรื่องดังกล่าว สพฐ.ไม่ได้ตัดวิชาพระพุทธศาสนาหรือศาสนาต่างๆ ให้หายไปจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแต่อย่างใด เพราะ สพฐ. ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการเรียนรู้ในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา รวมถึงศาสนาต่าง ๆ เสมอมา โดยเน้นย้ำว่านักเรียนทุกคนจำเป็นต้องรู้ เข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญ และสามารถปฏิบัติตนได้อย่างสอดคล้องกับแนวคิดพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาหรือศาสนาที่ตนนับถือ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าผู้เรียนจะสามารถนำหลักธรรมคำสอนไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนเอง เป็นผู้ยึดมั่นในความดี มีค่านิยมที่ดีงาม ให้ความสำคัญต่อสังคมและประโยชน์ส่วนรวมรวมถึงอยู่ร่วมกับผู้อื่นบนความแตกต่างและหลากหลายได้อย่างเป็นปกติสุข

   สำหรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดให้นักเรียนทุกคน ต้องเรียนเนื้อหาตามที่กำหนดไว้ในสาระการเรียนรู้แกนกลางให้ครบถ้วนทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยวิชาพระพุทธศาสนาและศาสนาต่าง ๆ ถูกกำหนดเป็นสาระการเรียนรู้แกนกลางในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม และจริยธรรม โดยนักเรียนจะเริ่มต้นเรียนรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและศาสนาต่าง ๆ อย่างเป็นระบบตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นชั้นปีแรกของการศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน ไม่นับการศึกษาระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 อย่างต่อเนื่อง โดย สพฐ. ไม่เคยยกเลิกสาระการเรียนรู้แกนกลางที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด และได้ให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระในวิชาพระพุทธศาสนาโดยสาระการเรียนรู้แกนกลาง และตัวชี้วัดพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนในระดับชั้น ป.1–6 จำนวน 60 ตัวชี้วัด ระดับชั้น ม.1–3 จำนวน 49 ตัวชี้วัด และระดับชั้น ม.4–6 จำนวน 27 ตัวชี้วัด รวมทั้งสิ้น 136 ตัวชี้วัด หากพิจารณาเปรียบเทียบจำนวนตัวชี้วัดกับสาระอื่น ๆ แล้ว พบว่าสาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม มีจำนวนตัวชี้วัดมากที่สุด รองลงมาคือ สาระที่ 4 ประวัติศาสตร์ มี 81 ตัวชี้วัด / ...(ต่อหน้า 2)

   สาระที่ 2 หน้าที่พลเมืองวัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม มี 72 ตัวชี้วัด สาระที่ 5 ภูมิศาสตร์ มี 68 ตัวชี้วัด และ สาระที่ 3 เศรษฐศาสตร์มี 62 ตัวชี้วัด ตามลำดับ เนื่องจาก สพฐ. พิจารณาแล้วเห็นว่าสาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม มีเนื้อหาที่นักเรียนจำเป็นต้องเรียนรู้ และทำความเข้าใจในหลายประเด็น การเรียนการสอนจึงต้องมีเนื้อหาที่ลงลึกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความตระหนักและปฏิบัติเป็นศาสนิกชนที่ดีได้ ได้แก่ ความสำคัญของศาสดา หลักธรรมของพระพุทธศาสนา ศรัทธาที่ถูกต้อง การยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักธรรม การปฏิบัติตนเป็นศาสนิกชนที่ดี และการธำรงรักษาพระพุทธศาสนาหรือศาสนาที่ตนนับถือ

   ทั้งนี้การกำหนดนโยบายของ สพฐ. ที่ให้พระพุทธศาสนา ศาสนาต่าง ๆ ศีลธรรม และจริยธรรม เป็นสาระการเรียนรู้แกนกลาง ส่งผลให้หน่วยงานทางการศึกษาทุกระดับตั้งแต่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หน่วยงานส่วนท้องถิ่น และโรงเรียน ต้องนำสาระการเรียนรู้แกนกลางที่กำหนดไปใช้เป็นกรอบและทิศทาง ในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาและใช้ในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งสถานศึกษาสามารถจัดทำเป็นหลักสูตรสถานศึกษาโดยกำหนดรหัสวิชา ชื่อวิชาและจำนวนชั่วโมงเรียนได้ตามบริบทของสถานศึกษา แต่ผู้เรียน จะต้องเรียนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาให้ครบทุกตัวชี้วัดภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ แม้แต่การจัดหลักสูตรโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่มุ่งเน้นการพัฒนานักเรียน ที่มีความโดดเด่นด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ยังกำหนดให้วิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาพื้นฐานที่นักเรียนต้องเรียนในทุกภาคเรียนอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยวิชาพระพุทธศาสนา 1 ถึงวิชาพระพุทธศาสนา 6 หรือโรงเรียนกีฬาประจำจังหวัด ที่มุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนทางด้านการกีฬา ก็ได้มีการกำหนดเนื้อหาด้านพระพุทธศาสนา ศาสนา ศีลธรรมและจริยธรรม ไว้ในโครงสร้างหลักสูตรและกำหนดให้วิชาพระพุทธศาสนาเป็นรายวิชาพื้นฐานที่นักเรียนทุกคนต้องเรียน เห็นได้อย่างชัดเจนว่านอกเหนือจากโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรทั่วไปจะให้ความสำคัญต่อวิชาพระพุทธศาสนาแล้ว โรงเรียนที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะก็ให้ความสำคัญต่อการจัดรายวิชาพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน