10-01-2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หารือ บอร์ด กพฐ. เดินหน้าเร่งพัฒนาครูควบคู่กับการปรับหลักสูตรใหม่

   ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ กพฐ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วม ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. 1 ควบคู่กับการประชุมผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โปรแกรม Zoom Meeting โดย นางสาวตรีนุช เทียนทอง กล่าวว่า การเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน เด็กสามารถศึกษาหาความรู้รอบตัวได้เองผ่านอินเทอร์เน็ต ดังนั้นการพัฒนาครูคือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพัฒนาการศึกษาของเด็ก โดยเปลี่ยนแนวความคิดจากที่ครูเป็นผู้มอบองค์ความรู้ให้กับเด็กฝ่ายเดียว เปลี่ยนมาเป็นการแนะแนว ให้เด็กได้ตระหนักรู้หรือสามารถนำข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัวมาวิเคราะห์ นำมาปรับประยุกต์ใช้ได้ เพราะขณะนี้องค์ความรู้มีอยู่รอบตัวเราไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนาครูให้เกิดการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิผลได้ในระยะยาว ทั้งนี้ การพัฒนาครูมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งกำลังดำเนินการควบคู่กันไปและต้องใช้เวลา แต่การพัฒนาครูเป็นส่วนที่สามารถทำได้เลย ในวันนี้โจทย์ของเราคือการทำอย่างไรให้คุณครูเข้าใจพฤติกรรมใหม่ ๆ ของเด็ก แล้วทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ในเรื่องของสมรรถนะ ทำให้เด็กเข้าใจองค์ความรู้ ต่าง ๆ ทำให้เกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์มากกว่าได้รับความรู้เพียงอย่างเดียว เพื่อให้เด็กสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับวิถีการดำรงชีวิตต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกยุคศตวรรษที่ 21 นี้ได้

   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต่อไปแพลตฟอร์มกลางในการเรียนรู้จะเป็นทางลัดในการเรียนรู้ได้ เนื่องด้วยความหลากหลายของสภาพพื้นที่แต่ละโรงเรียนที่แตกต่างกันไปตามบริบท โลกดิจิทัลจะเป็นกุญแจที่ทำให้เด็กต่างจังหวัดหรือเด็กที่อยู่พื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่ายขึ้น เราจึงต้องพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง เพื่อให้เด็กเข้าถึงองค์ความรู้ดี ๆ มีประโยชน์ได้มากขึ้น รวมถึงคุณครูหากเข้าถึงองค์ความรู้เหล่านี้ก็จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการสอนเด็กนักเรียนได้ ส่วน เรื่องการบริหารจัดการงบประมาณจะมีการควบรวมโรงเรียน ลักษณะโรงเรียนแม่ข่ายที่จะใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาครูไม่ครบชั้นหรือสื่อการเรียนรู้ที่ขาดแคลนแต่ไม่ได้หมายความว่าจะยุบหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กต่ำกว่า 120 คนทั้งหมด โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลหรือในถิ่นทุรกันดารก็ต้องยังคงไว้ แต่โรงเรียนขนาดเล็กที่การเดินทางสะดวก เด็กสามารถมาเรียนที่โรงเรียนแม่ข่ายได้ ก็จะให้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนแม่ข่ายและเรียนร่วมกัน โดยขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งต้องหาแนวทางร่วมกันอีกหลาย ๆ แนวทางเพื่อให้โรงเรียนต่าง ๆ เหล่านี้เกิดการสร้างเครือข่ายร่วมกัน ทำให้สามารถบริหารจัดการงบประมาณที่มีอยู่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด