09-05-2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หารือ เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เตรียมพร้อมเปิดเทอม วันที่ 17 พฤษภาคมนี้

   นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายให้แก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศว่า ได้เน้นย้ำเรื่องการเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ โดยได้กำชับเขตพื้นที่ทั่วประเทศเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ปกครองในการเปิดภาคเรียนใหม่อย่างปลอดภัย โดยการปฎิบัติตามมาตรการ 6-6-7 ประสานการฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียนอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะ 5-11 ปี รวมถึงโรงเรียนจะต้องตรวจสอบสภาพอาคารเรียนให้มีความพร้อมไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า ระบบประปา และห้องเรียน นอกจากนี้ยังมีการเตรียมเนื้อหาจัดการเรียนการสอนจะต้องเติมเต็มเสริมศักยภาพของผู้เรียนอย่างเต็มที่ หลังสถานการณ์โควิดส่งผลให้เรียนในรูปแบบออนไลน์มากว่า 2 ปี ซึ่งอาจทำให้เด็กเกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ ขณะเดียวกันจะต้องมีการค้นหาและติดตามเด็กที่หลุดออกการศึกษาระบบให้กลับมาเรียน วางแผนกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบอีกครั้ง แนะนำทางเลือกการศึกษานอกระบบ กรณีเด็กไม่ประสงค์กลับเข้าระบบ ต้องบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นในระดับจังหวัดอย่างเข้มแข็ง

   ด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ได้ย้ำเรื่องการเปิดภาคเรียนใหม่แบบออนไซต์ภายใต้สถานศึกษาที่ปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีนให้แก่ครูและนักเรียน ซึ่งขณะนี้พบว่าเด็กอายุ 5-12 ปี ยังได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนน้อยมาก คิดเป็น ร้อยละ3-4 เท่านั้น โดยในส่วนของเด็กเล็กจะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ขณะที่เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้รับการฉีดวัคซีนแล้วกว่า ร้อยละ 90 ทั้งนี้ย้ำว่าการที่เด็กจะฉีดวัคซีนหรือยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจะไม่เป็นเงื่อนไขกำหนดไม่ให้มาโรงเรียนอย่างเด็ดขาด ซึ่งโรงเรียนเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้โครงการพาน้องกลับมาเรียนเขตพื้นที่จะต้องค้นหาเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษาให้กลับเข้ามาเรียนในภาคเรียนใหม่นี้ด้วย ซึ่งในส่วนของ สพฐ.มีเด็กที่หลุดระบบการศึกษา 28,134 คน และนำกลับเข้าระบบได้เพียง 289 คน และมีที่พบตัวแล้วแต่ยังไม่ยอมกลับเข้ามาเรียน ซึ่งเป็นโจทย์ให้เขตพื้นที่จะต้องลงไปติดตามว่าสาเหตุอะไรเด็กถึงยังไม่ยอมกลับเข้ามาเรียน ขณะเดียวกัน สพฐ.แต่งตั้งอาสาสมัครการศึกษา ทำหน้าที่คล้ายอาสาสมัครหมู่บ้าน หรือ อสม. โดยอาสาสมัครการศึกษานี้จะทำหน้าเอกซเรย์เด็กตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อติดตามนำกลับเข้าระบบการศึกษา