17-05-2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยืนยันกรณีปลดล็อค พ.ร.บ.ประกันสังคม “3 ขอ” ขอเลือก-ขอกู้-ขอคืน ไม่กระทบต่อเสถียรภาพกองทุนประกันสังคม

 

   นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงรายละเอียดการปรับแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. .... หลังคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ว่า จากประเด็นการเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานก็ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาความเป็นได้ตั้งแต่ปี 2563 เพื่อปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ ประกันสังคม ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนกว่า 12 ล้านคนได้รับประโยชน์สูงสุดนับตั้งแต่มีการตั้งกองทุนประกันสังคมมา 30 ปี โดยในรายละเอียดมาตรการ 3 ขอ ประกอบด้วย “ขอเลือก ขอกู้ และขอคืน” สำหรับขอเลือก ให้สิทธิ์ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 18 เดือน สามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินบำเหน็จเป็นเงินก้อน หรือรับบำนาญเป็นรายเดือน จากเดิมหากส่งเกิน 180 เดือนกฎหมายให้สิทธิรับบำนาญเพียงอย่างเดียว ส่วนขอกู้ก็คือ การนำเงินชราภาพในส่วนที่ผู้ประกันตนสะสมไว้ประมาณร้อยละ 30 นำไปเป็นหลักประกันในการกู้ยืมกับสถาบันการเงิน ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่ากู้เงินนอกระบบที่ไม่มีวันเป็นอิสระ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ลดการพึ่งพาเงินกู้นอกระบบได้, ส่วนขอคืน ยืนยันว่าจากการคำนวณแล้วไม่กระทบเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมแน่นอน เพื่อเป็นการเปิดช่องให้สามารถขอคืนเงินบางส่วนได้ แต่ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินชราภาพในส่วนที่ผู้ประกันตนสะสมไว้ และจะขอคืนได้ต้องเป็นกรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย วิกฤตของโลก หรือเหตุการณ์อื่นใดที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนอย่างรุนแรง ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายกรณี เช่น ไฟไหม้บ้าน โดยรายละเอียดจะต้องกำหนดนิยามความจำเป็นในกฎหมายลูกให้ชัดเจนต่อไป ดังนั้น ขอให้ผู้ประกันตนเชื่อมั่นต่อมาตรการดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกันตนมีความรู้สึกต้องจ่ายเงินสมทบแบบถูกบังคับด้วยกฎหมาย แต่เรื่องนี้จะทำให้ผู้ประกันตนรู้สึกว่าสามารถจับต้อง หรือได้ใช้ประโยชน์จากเงินที่ต้องจ่ายสมทบทุกเดือน