13-06-2565

สำนักงาน กศน. เดินหน้าสร้าง "สุขทุกช่วงวัย" โดยใช้นวัตกรรมสร้างโอกาสทางการศึกษา

   นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ กศน. พร้อมด้วย นายนรา เหล่าวิชยา ที่ปรึกษาด้านการจัดการศึกษาโครงการพระราชดำริและพื้นที่สูง ดร.วัชรีวรรณ กันเดช ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่ายและคณะ ร่วมกับผู้อำนวยการ กศน.จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้บริหาร และบุคลากร สังกัด กศน.จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ลงพื้นที่ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" (ศศช.) บ้านห้วยปูแกง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อตรวจเยี่ยมและรับฟังการใช้นวัตกรรมในการจัดการศึกษาใน ศศช. โดยศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" (ศศช.) บ้านห้วยปูแกงได้ใช้นวัตกรรม "แผนที่สามมิติของชุมชน" ที่พัฒนาขึ้นโดยสำนักงาน กศน.จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในการบริหารจัดและจัดการเรียนการสอน โดยนวัตกรรมนี้เป็นการขับเคลื่อนในชุมชนที่เริ่มต้นจาก 1) สำรวจข้อมูลพื้นฐานของชุมชนเป็นรายบ้าน 2) สำรวจปัญหา 5 ด้านของแต่ละบ้านที่ประกอบด้วย ปัญหาด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ด้านอาชีพ ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และด้านวัฒนธรรม และ 3) สำรวจความฝันความต้องการของแต่ละบ้าน และนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการวางแผนจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสภาพ ปัญหา และความต้องการเป็นรายบ้าน และทั้งชุมชน ตลอดจนใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาความร่วมมืกับภาคีเครืข่ายในการร่วมส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาสำหรับทุกคนในชุมชน อันนำไปสู่การสร้าง "สุขทุกช่วงวัย" ให้เกิดขึ้นกับชุมชนต่อไป

   นายวัลลพ สงวนนาม กล่าวว่า นวัตกรรมดังกล่าวเน้นการมีส่วนร่วมมือจากทุกคนและทุกภาคส่วนในการใช้การศึกษาแก้ปัญหาที่ตรงกับความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริง ซึ่งนวัตกรรมนี้จะเป็นการต่อจิ๊กซอว์ตั้งแต่บุคคล ครอบครัว ไปยังชุมชน ซึ่งสามารถขยายไปยังตำบล อำเภอ และจังหวัดที่ต้องเป็นการประสานสัมพันธ์ในการจัดการศึกษาให้ครอบคลุมสำหรับทุกคน ซึ่งแนวนวัตกรรมนี้ต้องนำไปขยายต่อในพื้นที่อื่นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไป ขณะเดียวกัน เห็นได้ว่าในการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานเช่นนี้ ครู ศศช. ต้องปฏิบัติงานได้อย่างกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของคนในพื้นที่ซึ่งต้องใช้จิตวิญญาณที่สูงมาก จึงจะขับเคลื่อนได้สำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องชื่นชม อย่างไรก็ตามเรื่องการส่งเสริมการรู้หนังสือไทยสำหรับชนเผ่า ที่ได้ใช้หลักสูตรและนวัตกรรมเพื่อให้ทุกคนได้รู้หนังสือ ที่ทำให้เห็นว่า กศน. ให้ความสำคัญกับทุกคน ซึ่งเป็นสิ่งแสดงว่า กศน. ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อย่างไรก็ตาม การจัดการศึกษาต้องผสมกลมกลืนนวัตกรรมกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมเพื่อสร้างสิ่งใหม่โดยไม่ลืมความสำคัญของวัฒนธรรมฐานรากของชุมชนเดิมด้วย