22-06-2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หารือ ผู้บริหาร สกสค.จังหวัด แนะทำงานเชิงรุก พร้อมนำครูรุ่นใหม่เข้าสู่ระบบ ช.พ.ค. หลังยอดสมัครลดลง

   นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการประชุม เชิงปฏิบัติการผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ สกสค. จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ว่า ภารกิจของสำนักงาน สกสค.ในการจัดสวัสดิการ สวัสดิภาพและสิทธิประโยชน์เกื้อกูลอื่นให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งในประจำการและนอกประจำการเป็นบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ข้าราชการครู ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ขอให้ทุกคนได้ระดมความคิดเห็นและนำเสนอปัญหาหรืออุปสรรคในการปฏิบัติที่มี เพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขให้มีประสิทธิภาพต่อไป เพราะตนในฐานะประธานคณะกรรมการ สกสค.พร้อมรับฟังและแก้ไขทุกปัญหา เพื่อสวัสดิการแก่ครูทุกคน ทั้งนี้ตั้งแต่ตนเข้ารับตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ นโยบายสำคัญในใจตนคือต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู เนื่องจากเป็นนโยบายภาพใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชน ซึ่ง สกสค. เป็นหน่วยงานที่เข้ามาช่วยสางปัญหาหนี้ครูได้อย่างดี

   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สกสค.ยังมีการให้บริการที่เป็นสวัสดิการให้แก่ครูไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลครู หอพัก สกสค. ซึ่งในส่วนของสวัสดิการเหล่านี้อยากให้สกสค.ได้หาความร่วมมือกับภาคเอกชนได้เข้ามาช่วยสนับสนุน เพื่อให้การบริการมีมาตรฐานมากขึ้น โดยอาจจะต้องมีการปรับแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องตนก็ขอให้ไปพิจารณารายละเอียดให้เกิดความเหมาะสมด้วย สำหรับการดำเนินกิจการ ช.พ.ค.-ช.พ.ส. ตนทราบว่ามีดำเนินการมาเป็นเวลานานถึง 70 ปี มีสมาชิกมากกว่า 1 ล้านคน ถือได้ว่าเป็นกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ดำเนินงานมานานและมีจำนวน สมาชิกมากที่สุดของประเทศ แต่ขณะนี้ได้รับทราบข้อมูลว่าโครงการดังกล่าวมีสมาชิกลดลง เพราะครูรุ่นใหม่ไม่ทราบว่ามีโครงการนี้อยู่ ดังนั้นต่อจากนี้ไปฝาก สกสค.จังหวัด จะต้องทำงานเชิงรุกเร่งประชาสัมพันธ์โครงการนี้ให้แก่ครูรุ่นใหม่ในพื้นที่ให้มากขึ้นด้วย

   ด้านนายพิเชฐ โพธิ์ภักดี ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ สกสค.กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายในเรื่องการปรับปรุงโรงเยาบาลครู หอพัก สกสค. เพื่อให้การบริหารจัดการเอื้อประโยชน์ต่อสมาชิกได้มากที่สุด โดยอาจนำภาคเอกชนเข้ามาช่วยดำเนินการ เพื่อให้มีมาตรฐานการบริหารงานมากขึ้น นอกจากนี้ในส่วนกิจการกิจการ ช.พ.ค.-ช.พ.ส. จะแบ่งกลุ่มระบบงานบริหารสมาชิกให้สามารถปฏิบัติงาน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการได้อย่างถูกต้องโปร่งใส ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ