24-06-2565

ที่ประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า หนุน 12 เมือง ทำแผนปกป้องพื้นที่ เน้นคุณค่าและคงอัตลักษณ

   พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบ VTC โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมประชุม ณ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ ที่ประชุมรับทราบ ผลการดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า รายเมือง ปี 2564 จำนวน 35 เมือง มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะอนุกรรมการรายเมือง โดยเสนอให้กำหนด"ตัวชี้วัดสาธารณะ" เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานในภาพรวม ซึ่งพลเอก ประวิตร ได้กำชับให้ความสำคัญ ตัวชี้วัด และให้สำนักงบประมาณ พิจารณาจัดสรรงบประมาณดำเนินการให้มีความต่อเนื่อง โดยยังคงมุ่งหมายขับเคลื่อนดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนาในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม สู่การส่งเสริมการท่องเที่ยว พร้อมไปกับการสร้างงานและสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจของประชาชน ตลอดจนสร้างความภูมิใจและตระหนักคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม ของเมืองเก่าไปพร้อมๆ กัน จากนั้นที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาและเห็นชอบหลักการ โครงการก่อสร้าง อาคารสำนักงานกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แห่งใหม่ เน้น การอนุรักษ์พลังงานและภูมิสถาปัตยกรรม ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเห็นชอบแผนและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าสงขลา และโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าอีก 12 เมือง ได้แก่ กำแพงเพชร, เพชรบุรี, ตะกั่วป่า, แม่ฮ่องสอน, กาญจนบุรี, ยะลา, นราธิวาส, พิษณุโลก, ร้อยเอ็ด, อุทัยธานี, ตรัง และฉะเชิงเทรา และเห็นชอบโครงการปรับปรุงฟื้นฟูและจัดระเบียบท่องเที่ยวเดิม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ ภายในเขตพื้นที่เมืองเก่ากาญจนบุรี รวมทั้งเห็นชอบให้จังหวัดที่มีเมืองเก่า 35 จังหวัด จัดทำประกาศจังหวัด เรื่องมาตรการในการควบคุมการก่อสร้างอาคารของภาครัฐบาล และโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของภาคเอกชนบนที่ดินของรัฐ โดยให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

   พลเอก ประวิตร กำชับ คณะกรรมการฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทรวงวัฒนธรรม กทม.,จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดแผนงานตามมติให้ทันตามกรอบเวลา โดยบูรณาการทำงานร่วมกัน มุ่งให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อสืบสานและดำรงคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยวและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนและขอให้กรุงเทพมหานครฯ และกรมเจ้าท่า ร่วมเร่งรัดและติดตามการขออนุญาต ปรับปรุงการก่อสร้างท่าเรือวัดโพธิ์ ให้เป็นไปตามแผนแม่บทการอนุรักษ์ที่กำหนด พร้อมทั้งให้สร้างการรับรู้และส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมและภาคประชาชน มีส่วนร่วมอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าไปด้วยกัน