02-08-2565

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ แนะแนวทางพัฒนากำลังคนตอบโจทย์อนาคต

   ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. กล่าวถึงความท้าทายในการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพในประเทศไทย เริ่มจากการมองถึงเป้าหมายใหญ่ของประเทศ คือการออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ที่ตั้งเป้าให้เกิดขึ้นภายในปี 2580 และการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาในทุกมิติ จากที่ข้อมูลปัจจุบัน ประเทศไทยมีจีดีพีในภาพรวมอยู่ที่ประมาณ 16.6 ล้านล้านบาท ถ้าจะไปให้ถึงเป้าหมายได้ควรมีจีดีพีอยู่ที่ 27.3 ล้านล้านบาท ให้ได้ในอีก 15 ปี ซึ่งถือว่ายังมีโอกาสในการไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ แต่จะพึ่งพาระบบเศรษฐกิจแบบเดิม หรืออุตสาหกรรมเดิม ๆ เพียงอย่างเดียวไม่ได้ โจทย์ใหญ่ของประเทศคือการสร้างเศรษฐกิจใหม่ ที่มีโอกาสในการเติบโตได้มากขึ้น ภาครัฐและภาคเอกชนจึงต้องร่วมกันคิดว่าจะเติบโตต่อไปอย่างไร และเศรษฐกิจใหม่ที่ควรเข้าไปพัฒนาอยู่ในสาขาใด รวมถึงการมองหาผู้เล่นใหม่ๆ เช่น กลุ่มผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม, กลุ่ม Start-up หรือ กลุ่ม Spin-off สาขาใหม่ๆ ที่สามารถพัฒนาจากสาขาเดิมที่มีศักยภาพ เช่น อาหาร ยานยนต์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงสาขาที่น่าสนใจอย่าง ชีววิทยาศาสตร์ ส่วนประกอบในอาหารเชิงฟังก์ชัน การแพทย์ บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล และอวกาศ เป็นต้น กลุ่มคนที่เข้ามาทำงานในส่วนนี้จึงต้องมีการสร้างทักษะใหม่ เพื่อให้เข้าไปตอบโจทย์ในสาขานั้นๆ ด้วย

   ข้อมูลจากการสำรวจขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ พบว่าแรงงานของไทย 86% อยู่ในกลุ่มไม่มีทักษะหรือ Unskilled labor (อันสกิล เลเบอร์)เป็นกลุ่มแรงงานที่ใครก็สามารถทำงานแทนได้ และมีแรงงานที่มีทักษะ หรือSkilled labor เพียง 14% ขณะที่ในประเทศใกล้เคียงอย่างมาเลเซียอยู่ในสัดส่วนแรงงานทักษะประมาณ 27.5% และสิงคโปร์มีกลุ่มแรงงานทักษะอยู่ถึง 59% ดังนั้น ในปัจจุบันที่ไทยเราอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านในการสร้างเศรษฐกิจใหม่ จึงถือว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านในการสร้างคนด้วย โดยต้องมุ่งเน้นการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพ หรือ Talent มากขึ้น เชื่อมโยงกับเป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อให้การสร้างคนสามารถทำได้อย่างตรงจุด

   สำหรับแนวทางและกระบวนการในการสร้างคน ดร. กาญจนา กล่าวว่า ในภาพของประเทศต้องมองใน 2 ส่วนคือการบริหารจัดการในแง่ของจำนวนคน และการใช้งานคนในระดับต่างๆ ในระดับนโยบายต้องเข้าถึงข้อมูลว่าเรามีคนเก่งอยู่ที่ไหนบ้าง ทำอะไรอยู่ และมีทักษะด้านใด ถ้ารู้ว่าคนเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ก็จะสามารถดึงเข้ามาช่วยในการทำงานร่วมกันได้ ซึ่งทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่น ในการทำข้อมูล High-skill workforce รวบรวมว่าในประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายอยู่ที่ใดบ้าง โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ผ่านเว็บไซต์ https://talent.nxpo.or.th/

   นอกจากนี้ยังได้มีการผลักดันการให้สิทธิประโยชน์ การสร้างระบบนิเวศที่ดีให้เกิดขึ้นในประเทศ เพื่อดึงดูดให้คนเก่งเข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น รวมถึงการหันมาให้ความสำคัญในฝั่งอุปสงค์ ในภาคเอกชนว่ามีความต้องการคนในรูปแบบใด โดยอิงแนวคิด Build (บิ๊ลด์) : คือการสร้างคนให้ตอบโจทย์ภาคเอกชน และการให้ทุน สนับสนุนนักเรียนทุนในสาขาที่หลากหลายมากขึ้น, Buy: การจ้างคนเก่งเฉพาะด้านเทคโนโลยี ผู้บริหารที่มีประสบการณ์จากต่างชาติ หรือตั้งหน่วยงานรับสมัครคนเก่งในต่างประเทศ หรือทำงานจากต่างประเทศแบบ work from anywhere, Borrow: การจ้างคนมาช่วยทำงาน หรือส่งคนไปทำงานร่วมกับคนเก่งๆ ในสถาบันวิจัย หรือมหาวิทยาลัย รวมถึงการให้ทุนวิจัยในต่างประเทศ และการทำความร่วมมือต่างๆ, และ Co-creation คือการร่วมกันสร้างคนให้มีทักษะที่ต้องการและเท่าทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในฝั่งของภาครัฐ มีการอำนวยความสะดวกสนับสนุนแนวทาง Co-creation เช่น การมีหลักสูตร Upskill/Reskill, การผลักดันการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา เพื่อให้ภาคเอกชนได้ร่วมออกแบบหลักสูตรกับมหาวิทยาลัย ผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม โดยไม่ติดข้อจำกัดทางการศึกษารูปแบบเดิม อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี กรณีผู้ประกอบการส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่ผ่านการรับรอง จะสามารถขอยกเว้นภาษีเงินได้จากกรมสรรพากรได้ถึง 250% ของค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมลูกจ้าง นอกจากนี้หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการ ในอุตสาหกรรมเป้าหมายและมีการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงในด้านสะเต็ม สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือนของพนักงานไปขอยกเว้นภาษีเงินได้ได้ 150% ซึ่งสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://stemplus.or.th/

  นอกจากนี้ ดร. กาญจนา ยังได้เปิดเผยถึงทักษะที่สำคัญในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเรียนรู้ที่ต้องกล้าทำอะไรใหม่ๆ พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและก้าวข้ามข้อผิดพลาดได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงทักษะการ Learn to unlearn and relearn ละทิ้งสิ่งที่เคยเรียนและเคยชินในบางเรื่อง และเปิดรับวิธีใหม่ๆ ที่ดีกว่า พร้อมในการปรับตัว และพร้อมในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องด้วย