05-08-2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดันนโยบายนายกฯประชุมใหญ่ อ.กรอ.อศ.ขจัดปัญหาขวางจัดทวิภาคี ตั้งเป้าใหม่ขยายเป็น ร้อยละ 50

   นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา หรือ อ.กรอ.อศ. ที่โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพฯ เพื่อสนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษา และขับเคลื่อนศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา หรือ CVM พร้อมมอบโล่ขอบคุณการสนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษาให้แก่ อ.กรอ.อศ. 39 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยมีผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ, สภาหอการค้าไทย, ผู้บริหารสถานประกอบการ และ ผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน เข้าร่วมประชุม

   นางสาวตรีนุช กล่าวว่า ตนในฐานะประธาน อ.กรอ.อศ. ชื่นชมและขอบคุณผู้ประกอบการ ทั้ง 39 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ร่วมกันนำนโยบายของรัฐบาล โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญและกำหนดให้อาชีวศึกษาเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อมุ่งพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะสูง ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และภาคเอกชนถือเป็นพลังหลักสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาตนได้มอบนโยบายให้ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวะทั้งของรัฐและภาคเอกชนทุกแห่ง ขยายความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคี กับทางภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจใหม่ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีเป้าหมายต้องการให้นักเรียนเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนในระบบทวิภาคีไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จากปัจจุบันที่จัดอยู่ประมาณ ร้อยละ 15

“ การสนับสนุนจากภาคเอกชนที่ต่อเนื่องมาหลายปี ได้ปรากฎผลเกิดสิ่งดีๆ ที่เป็นความสำเร็จต่อระบบเศรษฐกิจไทยในหลายอุตสาหกรรม จึงขอความร่วมมือจากภาคเอกชนสนับสนุนด้านอาชีวศึกษาอย่างเข้มข้น และแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ดิฉันมารับฟังข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน เพื่อนำมาปรับปรุง พัฒนา และการต่อยอดความร่วมมือการจัดการอาชีวศึกษาให้ก้าวล้ำทันสมัย ได้บุคลาการมืออาชีพที่ตรงกับความต้องการ ที่ปัจจุบันยังมีช่องว่างกฎ ระเบียบต่างๆอยู่ ซึ่งการหารือในวันนี้จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอุปสรรคได้ตรงตามเป้าหมาย และปลดล็อกในประเด็นต่างๆ ต่อไป” นางสาวตรีนุช กล่าว

  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน ในวันนี้ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ ได้เสนอให้มีการจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคีที่ยืดหยุ่น มีหลักสูตรที่ยืดหยุ่นให้ผู้เรียนอาชีวศึกษาสามารถเรียนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ภายใน 4 ปี โดยที่วิชาการและกิจกรรมไม่ลดลง ซึ่งเด็กจะมีอายุ 18 ปี สามารถทำงานในสถานประกอบการได้ ซึ่งขณะนี้เมื่อเด็กเรียนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จะมีอายุ 17 ปี ซึ่งไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากอายุไม่ถึงติดกฎหมายแรงงาน เป็นต้น.