16-09-2565

สำนักงาน กศน. โดยศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ชูผลิต Content ร่วมสมัย แบบ “Fact ไม่ Fake” ตอบโจทย์สังคม Online

   นายธนพัชร์ ขุนเทพ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการผลิตสื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา สำนักงาน กศน. เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานเปิดและบรรยายพิเศษในโครงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเขียนแผนเพื่อพัฒนาครุภัณฑ์ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา” เพื่อให้บุคลากรมีทักษะเขียนแผนพัฒนาครุภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลพัฒนาการเรียนรู้ประชาชนด้วยเทคโนโลยีร่วมสมัยภายใต้ข้อเท็จจริงเชื่อถือได้                         ณ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ว่า ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ทำหน้าที่สำคัญในการจัดผลิต พัฒนาและเผยแพร่ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่ทันสมัย ในรูปแบบรายการวิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษา  รายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ รวมทั้งสื่อออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ สิ่งสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีมาจากครุภัณฑ์เครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยมากในยุคเริ่มแรก ซึงได้ใช้งานมาอย่างต่อเนื่อง และเกิดการเสื่อมสภาพไปตามอายุการใช้งาน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแล ปรับปรุง บำรุงรักษาอุปกรณ์เครื่องมือเหล่านี้ให้คงประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน ครุภัณฑ์ที่เราต้องการพัฒนา หรือจัดซื้อใหม่ ก็ต้องคำนึงถึงแนวโน้มการพัฒนาให้ทันกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน และรองรับอนาคตไว้พร้อมกันด้วย จึงได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้บุคลากรของศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษามีความรู้ ความเข้าใจและมีทักษะในการเขียนแผนและ สามารถจัดทำ TOR เพื่อพัฒนาครุภัณฑ์ของหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้กระบวนการทางความคิดในการควบคุมวัสดุอุปกรณ์ ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคทองของสื่อ Online

   นายธนพัชร์ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลให้มีช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ชมมีทางเลือกในการรับชมที่หลากหลาย เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรงในฝ่ายของผู้ผลิตสื่อ ผู้ชมสามารถรับชมรายการโทรทัศน์ได้ทุกสถานที่อย่างสะดวกสบาย นอกเหนือจากที่บ้าน เช่น บนมือถือสมาร์ทโฟน บนรถยนต์ บนแท็บเล็ต ที่สำคัญทุกคน ทุกองค์กรจะมีโอกาสเป็นผู้ผลิตเนื้อหารายการและมีช่องทางในการขอเวลาออกอากาศได้ด้วยตนเอง มีความยืดหยุ่นมากกว่าโทรทัศน์ระบบเดิม เป็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดทของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการพัฒนาการศึกษาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อขจัดข้อจำกัดในด้านการเรียนรู้ ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย พัฒนารูปแบบการจัดกระบวนการเรียนการสอน รวมถึงการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรในด้านต่าง ๆ เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย นอกจากภารกิจการบริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ หรือ ETV และสถานีวิทยุศึกษา FM 92 Mhz แล้ว ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษายังมีหน้าที่สำคัญในฐานะของสื่อภาครัฐ ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงบทบาทภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงาน กศน.สู่สายตาประชาชนอย่างกว้างขวางอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในยุคนี้ จะเป็นยุคของการแข่งขันในเรื่องของการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในหน้าสื่อต่างๆ ที่รุนแรง แต่สื่อของศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ถือว่ามีจุดแข็งในระดับต้นๆ ในด้านของเนื้อหาสาระที่เป็นองค์ความรู้ที่เชื่อถือได้ เป็นข้อเท็จจริง (Fact) อยู่ในความถูกต้องและคุณธรรมไม่ปนเปื้อนข้อมูลเท็จ ไม่มีการโฆษณาชวนเชื่อ ไม่มีความหลอกลวงให้เกิดความละโมบ (Fake) สิ่งที่ต้องพัฒนาต่อไปคือรูปแบบการนำเสนอที่ดึงดูดความสนใจผู้ชม เพราะจุดหมายปลายทางขององค์กร คือ การร่วมกันสร้างเด็ก เยาวชน และคนไทย ให้เป็นผู้ที่มีความรู้คู่คุณธรรม มีทักษะชีวิต สามารถดำรงอยู่ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมีภูมิต้านทาน เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนในที่สุด