18-10-2565

วช. ร่วมกับ GISTDA และภาคีเครือข่าย ชูแพลตฟอร์มเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เพื่อสนับสนุน การตัดสินใจในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง

   ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานบริการจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้การสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการศึกษาวิจัยในการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาใช้กับการบริหารจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะประยุกต์ข้อมูลจากดาวเทียมร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้มีความถูกต้องและแม่นยำ โดยมีนักวิจัยอีกหลายหน่วยงานร่วมดำเนินการ ซึ่งโครงการ “ประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” ได้ผลผลิตสำคัญ คือ แพลตฟอร์มเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ในการประเมินผลกระทบจากภัยแล้งเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย โดยในวันนี้เป็นโอกาสในการนำเสนอให้หน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์รับทราบ และขอรับความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน เพื่อนำมาพัฒนาแพลตฟอร์มให้สามารถส่งต่อไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ผู้ใช้งาน

   ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวว่า เทคโนโลยีที่สามารถติดตามประมวลผลข้อมูลทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ตรวจสอบได้ เช่นเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ ได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญในการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งในระดับประเทศ และประเมินความเสียหายของพืชเกษตรในระดับรายแปลง ได้แก่ พื้นที่ปลูกข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และอ้อย ปัจจุบันทาง GISTDA ได้ทำการสร้างแบบจำลองประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืช ให้มีความถูกต้อง แม่นยำ ซึ่งมีความถี่ในทุกๆ สัปดาห์ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการชี้เป้า การบริหารจัดการพื้นที่ทางการเกษตร และจัดทำแพลตฟอร์มสนับสนุนการตัดสินใจ ในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง โดยการสนับสนุนจาก วช. ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา GISTDA ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายในการดำเนินงานร่วมกัน ที่จะมุ่งหวังต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่ต่อสถานการณ์ภัยแล้ง ที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม นับเป็นโอกาสที่ดีที่มีเวทีร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อการพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นแนวทางในการติดตามพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลงในครั้งนี้

ทั้งนี้ ทุกภาคส่วน สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มติดตามพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง ได้ทางเว็บไซต์ http://cropsdrought.gistda.or.th (คร็อปดราฟท์ ดอท จิสด้า ดอทโออาร์ ดอท ทีเอช) และแอปพลิเคชันบนมือถือ “เช็คภัยแล้ง” ทั้งในระบบ IOS และ Android