20-10-2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการตรีนุช ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย พร้อมชู โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 เป็นจุดลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความต้องการของผู้เรียนในสายอาชีพ

   นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน , ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รักษาราชการเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

   นางสาวตรีนุช เทียนทอง กล่าวว่า โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการจัดการศึกษาที่ลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้เด็กๆ ทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นเด็กด้อยโอกาส หรือเด็กที่อยู่พื้นที่ห่างไกล ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา และเป็นการศึกษาแบบพหุปัญญา ซึ่งมีความหลากหลายและทันสมัย มีการเสริมด้านอาชีพ ร่วมกับอาชีวศึกษา ในลักษณะของทวิศึกษา โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทั้งสายสามัญและสายอาชีพ สามารถนำไปต่อยอดได้ทั้ง 2 วุฒิฯ แล้วยังมีการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งทางผู้บริหารโรงเรียนก็มีความตระหนักถึงเทคโนโลยีดังกล่าว และนำมาใช้ในเรื่องการดูแลความปลอดภัย หรือเรื่องวิทยฐานะครู ได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งทำให้การจัดการศึกษารวดเร็วขึ้น ทำให้คุณครูมีเวลาโฟกัสกับการเรียนการสอนมากขึ้น ครูได้อยู่กับเด็กมากขึ้น ลดกระบวนการทางด้านเอกสารลง ซึ่งสามารถออกแบบการศึกษาให้เด็กเป็นศูนย์กลางได้อย่างแท้จริง ซึ่งเด็กจะได้ทำกิจกรรมที่หลากหลายและเกิดการบูรณาการในทุกด้าน 
สำหรับโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในแนวชายแดนไทย-ลาว ริมฝั่งแม่น้ำโขง เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดทำการสอนในระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ นักเรียนส่วนใหญ่เป็นนักเรียนในพื้นที่อำเภอเชียงแสนและอำเภอใกล้เคียง มีนักเรียนกว่า 1,500 คน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 114 คน ภายใต้การบริหารงานของ นายกัมพล ไชยนันท์ ผู้อำนวยการโรงเรียน โดยจุดเด่นของโรงเรียนแห่งนี้คือการจัดการเรียนการสอนที่เน้นฐานสมรรถนะและความต้องการของผู้เรียนในสายอาชีพ มีจุดเริ่มต้นจากการจัดทำตู้รับความคิดเห็นของผู้เรียนแล้วนำมาวิเคราะห์และจัดการศึกษาที่มีความหลากหลาย ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนอย่างแท้จริง เช่น สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ บัญชี เป็นต้น โดยในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-6) จัดการศึกษาแบบทวิศึกษา โดยความร่วมมือกับเครือข่ายอาชีวะศึกษาในพื้นที่ คือ วิทยาลัยการอาชีพเวียงเชียงรุ้ง นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน การทดสอบนักเรียน และการบริหารจัดการผ่านระบบ E-School Master เป็นการลดการใช้กระดาษ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

   นอกจากนี้ยังเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา หรือ Partnership School ร่วมกับมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ และโรงเรียนในโครงการเกษตรอัจฉริยะประณีต โดยใช้ระบบ Smart Farmer ร่วมกับ สพฐ. ที่นำโรงเรียนยุบเลิกแล้วมาใช้เป็นสถานที่แหล่งเรียนรู้โรงเรียนศาสตร์พระราชา ในการบ่มเพาะอาชีพและการพัฒนาผู้เรียนตามแนวทางพหุปัญญาบนความหลากหลายของผู้เรียน ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายโรงเรียนคุณภาพที่เห็นผลเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์กับผู้เรียนอีกด้วย