25-10-2565

ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมนำหน่วยงานวิจัย – มหาวิทยาลัย - นักวิทย์รุ่นใหม่ ร่วมประชุมผู้นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลก STS Forum 2022 เปิดวิสัยทัศน์การเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม

   ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยผู้บริหารและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของไทย เข้าร่วมการประชุมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสังคม ครั้งที่ 19 หรือ STS Forum 2022 ซึ่งเป็นเวทีหารือด้านนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นการจัดประชุมในสถานที่ครั้งแรกในรอบ 3 ปีหลังการระบาดของโควิด-19 ในปีนี้มีผู้ได้รับรางวัลโนเบล รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ผู้บริหารสถาบันวิจัยและหน่วยให้ทุน ผู้นำจากภาคอุตสาหกรรม และนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำทั่วโลกเข้าร่วมประชุมกว่าหนึ่งพันคน

   นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวในการเปิดประชุมว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจใหม่ของญี่ปุ่น หรือ New Capitalism (นิวแคปปิตอลลิซึ่ม) ซึ่งคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาเรื่องโลกร้อน สังคมสูงวัย โดยต้องอาศัยนวัตกรรมทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคมศาสตร์มาบูรณาการแก้ปัญหาและสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจและอุตสาหกรรมด้วย ทั้งนี้ ญี่ปุ่นจะมุ่งเร่งส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญ 3 ด้าน คือ ควอนตัม ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีชีวภาพ ในด้านกลไกขับเคลื่อน จะส่งเสริมทั้งการวิจัยพื้นฐาน การพัฒนากำลังคนและนักวิจัยรุ่นใหม่ การเชื่อมโยงระหว่างภาควิชาการ-ภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคประชาสังคม หรือ PPP และต้องประสานกับนานาชาติโดยเฉพาะเครือข่ายความร่วมมือระหว่างทั้งด้านวิชาการและการแลกเปลี่ยนบุคลากร

   ด้าน ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การประชุมนี้เป็นเวทีที่ผู้บริหารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากทั่วโลกได้มาเข้าประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ซึ่งหน่วยงานของ อว. ได้เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอความก้าวหน้าของประเทศไทยในเวทีนานาชาตินี้ โดยมีผู้บริหารหน่วยงานวิจัย หน่วยงานให้ทุน และนักวิจัยจาก สำนักงานปลัดกระทรวง อว. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยมหิดล และ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าร่วมอภิปราย

   ที่สำคัญ ในการประชุมครั้งนี้ได้นำนักวิจัยรุ่นใหม่ของไทยจำนวน 14 คน จาก 10 มหาวิทยาลัย/หน่วยงาน เข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย เพื่อเป็นการเปิดวิสัยทัศน์การเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีโปรแกรมให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้พบกับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลและผู้นำทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทั่วโลกจากภาคเอกชน/อุตสาหกรรมอีกด้วย