02-11-2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งเป้าสิ้นปีการศึกษา 2565 ออกกลางคันเป็นศูนย์ เน้นครูเข้าใจนักเรียนรายคน

   นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการมอบนโยบายเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 ให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และ ผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วประเทศ ผ่าน OBEC Channel ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่า ขอบคุณทุกคนที่ได้นำนโยบายของกระทรวงไปปฏิบัติให้มีผลสำเร็จมีความคืบหน้าตามลำดับ ซึ่งในโอกาสเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 ตนขอเน้นย้ำการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาที่สำคัญในการดูแลพัฒนาการของนักเรียนอย่างเป็นองค์รวม ได้แก่ ความปลอดภัยในสถานศึกษา ทั้งด้านการเดินทางไป-กลับของนักเรียน การจัดสภาพแวดล้อมสถานศึกษาให้ปลอดภัย การให้บริการดูแลด้านโภชนาการ และสุขภาพ การป้องกันภัยธรรมชาติ และที่สำคัญ คือ การป้องกันภัยจากยาเสพติด และภัยจากอาวุธปืน ซึ่งต้องไม่เกิดขึ้นในสถานศึกษาอย่างเด็ดขาด และต้องปฏิบัติอย่างเข้มข้น ตามหลัก 3 ป. ได้แก่ ป้องกัน ปลูกฝัง และ ปราบปราม ภายใต้โครงการ MOE Safety Center เพื่อสร้างความปลอดภัยให้นักศึกษา ครู และบุคลากรทุกคน

   “ ในการเปิดภาคเรียนที่ 2/2565 นี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้มุ่งเน้นให้ครูกระชับความสัมพันธ์กับนักเรียนและผู้ปกครองมากขึ้น เพื่อทำให้เข้าใจนักเรียนเป็นรายบุคคล ทั้งนิสัยและชีวิตความเป็นอยู่ ได้พูดคุยกับผู้ปกครองโดยตรง เพื่อร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องเหมาะสม อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายผู้ปกครองและชุมชนให้ช่วยกันเฝ้าระวัง และมีส่วนร่วมในการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัย ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครองไว้วางใจในการนำผู้เรียนมาอยู่ภายใต้การดูแลของเราผ่านการเยี่ยมบ้านนักเรียน ” นางสาวตรีนุช กล่าว

   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า เราจะสร้างความเข้มแข็งให้แก่นักเรียน ผ่านระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน “ Screening Learning Loss” ครอบคลุม 4 มิติ ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ดำเนินการแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ที่ถดถอย ด้วยการนำข้อมูลนักเรียนมาใช้ในการออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม และป้องกันเด็กนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งโครงการพาน้องกลับมาเรียน ยังเป็นนโยบายสำคัญที่เดินหน้าต่อเนื่อง โดยติดตามเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาครบ 100% และ ทำให้การออกกลางคันเป็นศูนย์ (zero drop out ) ในปีการศึกษา 2565 นี้ นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์ม School Mental Health ระบบดูแลนักเรียนและครูในสถานศึกษา ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อตรวจสภาพจิตใจของเด็กและครู ซึ่งสถานศึกษาสามารถประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อขอรับคำปรึกษาและความช่วยเหลือเกี่ยวกับสุขภาพจิตได้

   นางสาวตรีนุช กล่าวเพิ่มเติมว่า การยกระดับคุณภาพทางการศึกษา และการแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ที่ถดถอย นั้น ให้โรงเรียนจัดกิจกรรมสอนซ่อมเสริม ชดเชย หรือ กิจกรรมเสริมทักษะเพิ่มเติมตามความถนัด ความสนใจ และเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน โดยนำการเรียนการสอนรูปแบบ Active Learning มาใช้ช่วยให้ผู้เรียน เรียนอย่างมีความสุข สนุก และมีทักษะการคิด ซึ่งจะทำให้เรียนรู้ได้เร็วและนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ และขอให้เพิ่มความสำคัญในวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง เพื่อสร้างสำนึกของความเป็นไทย รักในการเป็นชาติของเรา โดยจัดการเรียนรู้ตามความพร้อม และเหมาะสมในแต่ละบริบทพื้นที่

   นางสาวตรีนุช กล่าวด้วยว่า สำหรับนักเรียนที่จะจบชั้น ม. 3 สถานศึกษาควรสำรวจความต้องการในการศึกษาต่อสายอาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อม ให้คำแนะนำและส่งต่อเข้าสู่โครงการ “อาชีวะ อยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ในปีการศึกษา 2566โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ครอบครัวประสบปัญหาด้านค่าใช้จ่าย สำหรับหลักสูตรทวิศึกษา ซึ่งเป็นการเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อสำเร็จการศึกษาผู้เรียนจะได้รับวุฒิการศึกษาทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) นั้น ตนได้มอบหมายให้ สพฐ. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ. )จัดทำแผนระดับจังหวัดว่า ควรจัดทวิศึกษารายวิชาใด ในโรงเรียนไหน โดยให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ทั้งแก้ไขปัญหา และข้อจำกัดจากการดำเนินงานในอดีต โดยเป้าหมายระยะสั้น เน้นการเรียนการสอนทวิศึกษาในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ,โรงเรียนตามโครงการพระราชดำริ และโรงเรียนที่มีความพร้อม“ ขณะนี้ยังมีสถานการณ์น้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ รวมถึงบางพื้นที่น้ำลดลงแล้ว ขอให้สำรวจความเสียหาย เพื่อจัดหางบประมาณสนับสนุน หากไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ให้โรงเรียนออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม หรือ นำไปเรียนรวมกับโรงเรียนใกล้เคียง โดยให้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางของนักเรียน ”

  นางสาวตรีนุช กล่าวว่า สำหรับเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ใหม่) หรือ เกณฑ์ PA นั้น ขณะนี้มี PA Support Team ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจถึงหลักเกณฑ์ และวิธีการประเมินแบบใหม่แล้ว ซึ่งหลายคนในที่นี้ ได้รับผิดชอบใน PA Support Team ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษา เป็นบุคลากรสำคัญในการเชื่อมโยงนโยบาย และสร้างความเข้าใจแก่ครู ไปสู่การปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ ตนขอให้ทุกฝ่ายเป็นพลังผลักดันขับเคลื่อนงาน รวมทั้งการประสานการทำงานแบบเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อเป้าหมายของการจัดการศึกษา คือ คุณภาพผู้เรียน. และหากสถานศึกษาใด มีความสำเร็จในการยกระดับคุณภาพศึกษา ตนจะถือโอกาสในการลงพื้นที่เพื่อขอไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนของท่านด้วย.