10-11-2565

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยร่วมกับพันธมิตรจังหวัดสงขลา 6 หน่วยงาน

   ศาสตราจารย์ (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. กล่าวว่า การดำเนินโครงการ“การเสริมสร้างศักยภาพให้ชุมชนบริหารจัดการ ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการผลิตน้ำประปาจากน้ำฝน” เป็นการนำน้ำฝนมาผลิตเป็นน้ำประปาด้วยเทคโนโลยีสีเขียวที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเป็นระบบที่ไม่ใช้สารเคมีในการตกตะกอนและลดปริมาณน้ำดิบที่เข้าสู่กระบวนการผลิตประปา เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถลดต้นทุนการใช้ไฟฟ้าและสารเคมีที่เป็นปัจจัยหลักในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของระบบผลิตน้ำประปาในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นแนวทางให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการลงทุนร่วมกับโรงผลิตอุปกรณ์ถังเก็บน้ำและอุปกรณ์กรองน้ำ เพื่อขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศไทยในการผลิตน้ำประปาจากน้ำฝน หรือน้ำฝนพร้อมดื่ม โดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ลงทุนระบบและเก็บค่าใช้น้ำจากชุมชนในแต่ละครัวเรือน ซึ่งจะสามารถลดภาระการจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำ ลดการใช้ไฟฟ้าและสารเคมีในการผลิตน้ำประปาให้กับเมืองและชุมชนต่อไป นอกจากนี้ยังสามารถช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในหน้าแล้งได้อีกด้วย

   งานวิจัยนี้มีเป้าหมายให้ชุมชนมีน้ำที่สะอาดที่มีคุณภาพใช้อย่างเพียงพอ ซึ่งสามารถนำน้ำมาใช้ได้ทั้งอุปโภค และบริโภค โดยไม่ขาดแคลนน้ำ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน สำหรับข้อมูลการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้จะเป็นข้อมูลในเชิงพื้นที่หรือชุมชน ซึ่งหากสามารถขยายผลไปยังทุกครัวเรือน จะสามารถนำไปคำนวณสู่ฐานข้อมูลบัญชีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับตำบล อำเภอและจังหวัดได้ ส่งเสริมให้ชุมชนมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ในการนำน้ำฝนมาผลิตเป็นน้ำประปาพร้อมใช้ และดื่มลดการใช้ขวดพลาสติกบรรจุน้ำดื่ม เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิดแนวทางสำหรับการจัดการน้ำในเมืองคาร์บอนต่ำ ด้วยเทคโนโลยีสีเขียวในการผลิตน้ำประปาจากน้ำฝน ตามแผนที่นำทาง เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองในเรื่องน้ำ และมีน้ำสะอาดมีคุณภาพได้อย่างยั่งยืน และ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม

   ทั้งนี้ระบบผลิตน้ำประปาเป็นระบบที่แปรสภาพน้ำดิบหรือน้ำธรรมชาติให้มีความสะอาด หรือมีคุณภาพดีเพียงพอต่อการนำไปใช้ในการบริโภคและอุปโภค ซึ่งน้ำธรรมชาติถึงแม้จะมีคุณภาพดี แต่ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้โดยตรง เพราะอาจจะมีสารปนเปื้อนปะปนอยู่ได้ โดยเฉพาะเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ดังนั้นน้ำดิบจะถูกสูบจากแหล่งน้ำผ่านระบบสูบน้ำดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำประปาซึ่งใช้เทคโนโลยีแตกต่างกันไปตามลักษณะของน้ำดิบและคุณภาพน้ำที่ต้องการ ซึ่งกระบวนการผลิตน้ำโดยทั่วไปจะเริ่มจากการเติมสารเคมีเพื่อการสร้างและรวมตะกอน การกรอง การกำจัดจุลินทรีย์ โดยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะถูกสูบจ่ายผ่านระบบจ่ายน้ำไปยังบ้านเรือนของประชาชนผู้ใช้น้ำ จากกระบวนการดังกล่าวส่งผลให้การผลิตน้ำประปา มีผลต่อการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอย่างมาก โดยปัจจัยที่มีผลทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความแตกต่างกัน ได้แก่ องค์ประกอบของระบบ ระดับความสูงของพื้นที่ ความต้องการใช้น้ำ ประเภทของแหล่งน้ำ และแหล่งรับน้ำ เป็นต้น โดยในแต่ละขั้นตอนการผลิตน้ำประปาจะมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการใช้ไฟฟ้าและสารเคมีเป็นหลัก

   ด้านนางพัทธนันท์ นาถพินิจ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ วว. ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวถึงผลการดำเนินงานในระยะเวลา 4 เดือน ของ วว. และพันธมิตรว่า ดำเนินงานสำเร็จตามแผนงานที่ตั้งไว้ ได้แก่ การลงนามบันทึกข้อตกลงการสร้างภาคีเครือข่ายเพื่อบูรณาการความร่วมมือ การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ระหว่าง 6 หน่วยงาน ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการนำเสนอแผนพัฒนาเมืองน่าอยู่ภายใต้สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นแผนการผลิตน้ำประปาจากน้ำฝนสำหรับชุมชนเพื่อความยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้กับที่ว่าการอำเภอระโนดและจังหวัดสงขลา โดยทีมวิจัย วว. ได้ลงพื้นที่ไปร่วมประชุมหารือกับชุมชนเพื่อนำเสนอโครงการและอบรมให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อ้างอิงสัญญาจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) อีกทั้งได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานเพื่อคัดเลือกพื้นที่ในการติดตั้งชุดผลิตน้ำประปาจากน้ำฝน ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากชุมชน เนื่องจากชุมชนไม่มีความรู้ในเรื่องการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งมีความสนใจในการนำน้ำฝนมาใช้งาน แต่ไม่มีความรู้และความเข้าใจในความปลอดภัยที่จะนำน้ำฝนมาอุปโภคและบริโภค เนื่องจากคุณภาพน้ำประปาในชุมชนเป็นน้ำบาดาลที่ไม่มีการปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนการแจกจ่าย ทำให้ประชาชนไม่สามารถนำมาใช้เพื่อการบริโภคได้

   นอกจากนี้ทีมวิจัย วว. ยังพบว่า ปัจจุบันชุมชนในพื้นที่ทุกครัวเรือนจำเป็นต้องซื้อน้ำบรรจุขวดเพื่อการบริโภคในปริมาณที่จำกัด แต่คุณภาพน้ำดื่มที่จำหน่ายในท้องถิ่นบางยี่ห้อยังไม่มีคุณภาพ เนื่องจากคุณภาพน้ำมีการเปลี่ยนแปลงเกิดตะกรันและตะไคร่น้ำในบรรจุภัณฑ์เมื่อเก็บไว้ระยะเวลานาน ทำให้ชุมชนขาดความปลอดภัยในการใช้น้ำและเป็นปัญหาหลักในพื้นที่ ซึ่งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีความตั้งใจในการผลักดันและสนับสนุนหากเทคโนโลยีการผลิตน้ำประปาจากน้ำฝนมีประสิทธิภาพ และได้คัดเลือกสถานที่ในการติดตั้งชุดผลิตน้ำประปาจากน้ำฝนจำนวน 7 แห่ง เพื่อให้เป็นชุมชนต้นแบบในการผลิตน้ำประปาจากน้ำฝน ได้แก่ โรงเรียน 1 แห่ง และครัวเรือน 6 แห่ง ในพื้นที่ตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา โดยช่วงแรกจะทำการติดตั้ง 2 แห่ง คือ ที่โรงเรียนชุมชมวัดบ้านขาวและบ้านผู้นำชุมชน เพื่อนำมาประเมินการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตน้ำประปาจากน้ำฝน เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลในการจัดการก๊าซเรือนกระจก โดย วว. และมหาวิทยาลัยฯ เป็นผู้นำองค์ความรู้ให้กับชุมชน ให้สามารถผลิตน้ำประปาจากน้ำฝนได้ และมีการติดตั้งชุดผลิตน้ำประปาจากน้ำฝน ซึ่งจะมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ในการประเมินความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยทางสาธารณะสุข และมีการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพ ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการลงทุนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก ศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ วว. ติดต่อได้ที่ เลขที่ 35 หมู่ 3 เทคโนธานีคลองห้า ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โทรศัพท์ 0 2577 9254