02-12-2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์​ วิจัยและนวัตกรรม จับมือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีญี่ปุ่น

   ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์​วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้บริหารของกระทรวง อว.เดินทางมาราชการที่ประเทศญี่ปุ่น และได้เข้าหารือกับ นางนะงะโอกะ เคโกะรัฐมนตรีว่าการกระทรวง.ศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (MEXT) ของญี่ปุ่นที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง โดยผลการหารือเป็นไปอย่างดียิ่งแสดงถึงความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นของทั้งสองกระทรวงในโอกาสนี้จึงได้ขยายผลความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน หรือ Comprehensive Strategic Partnership ซึ่งคณะรัฐมนตรีเพิ่งให้ความเห็นชอบ และไทย-ญี่ปุ่นจะประกาศร่วมกันในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมเอเปครัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวต่อไปว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันที่จะมุ่งเน้นประเด็นความร่วมมือแบบมุ่งเป้าในสองเรื่อง คือ


   1.การพัฒนาและผลิตวิศวกรนักปฏิบัติ เน้นด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านโครงการสถาบันไทยโคเซ็น
ที่ไทยและญี่ปุ่นจะร่วมกันดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ขยายผลให้มากและรวดเร็วขึ้นอีก และ
   2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการสร้างสถานีวิจัยแสงซินโครตรอนเครื่องที่สองของประเทศไทย


   ไทยและญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์ทางด้านวิชาการหลายอย่างยาวนานมากโดยสถานีวิจัยแสงซินโครตรอนเครื่องแรกของไทยที่ จ.นครราชสีมาก็ดำเนินการโดยความร่วมมือและการสนับสนุนของประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 20 กว่าปีก่อน จนปัจจุบันประเทศไทยมีความก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์อย่างมาก ได้เรียนรู้และมีประสบการณ์จากเครื่องดังกล่าว ซึ่งนำมาใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว กระทรวง อว.โดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ตั้งเป้าว่าการจัดสร้างสถานีวิจัยแสงซินโครตรอนเครื่องที่สองนั้น จะดำเนินการโดยอาศัยความรู้และประสบการณ์ของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรไทยเป็นหลัก โดยให้มี การออกแบบและผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ภายในประเทศให้มากที่สุด

   ขณะเดียวกันก็ยังต้องการความร่วมมือและการสนับสนุนทางวิชาการจากนานาชาติ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำในเรื่องนี้ของโลก โดยประสงค์ให้ความร่วมมือในทางวิชาการเรื่องซินโครตรอนนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างของความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอย่างเท่าเทียมกัน ในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน รวมทั้งการสามารถขยายไปสู่ระดับภูมิภาคนี้ด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาบุคลากรเทคโนโลยีชั้นสูงของภูมิภาคต่อไป