09-12-2565

เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่

ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. พร้อมด้วย นางสาว สุณีย์ เลิศเพียรธรรม ผู้ตรวจราชการ อว. และ นางสาวทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้อำนวยการกลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัด อว.ลงพื้นที่เยี่ยมชมโอโซนฟาร์ม อ.แม่จัน จ.เชียงราย โดยมีนายพิเชษฐ กันทะวงค์ กรรมการผู้จัดการโอโซนฟาร์ม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นำเยี่ยมชมพื้นที่ 8 ไร่ ซึ่งประกอบด้วยโรงเรือน 18 หลัง แต่ละโรงเรือนจะปลูก เมล่อน มะเขือเทศ ผ่านระบบสมาร์ทฟาร์ม นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหารที่นำผลผลิตจากฟาร์มมาปรุงจำหน่าย
โดยผลผลิตทั้งหมดของโอโซนฟาร์มเป็นออร์แกนิกส์และปลอดสารพิษ


   ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ขณะนี้คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการทำการเกษตรแบบแม่นยำหรือปรับเปลี่ยนมาเป็น Young Smart Farmer มากขึ้น เพราะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้ามาช่วยควบคุมทั้งเรื่องดิน น้ำ ปุ๋ย ได้มากขึ้น


   โอโซนฟาร์ม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงพื้นที่ 18 โรงเรือนโดยมี 5 โรงเรือนที่ปลูกเมล่อน มีรายได้ 4-5 หมื่นบาทต่อโรงเรือนต่อการตัด 1 ครั้ง ขณะที่ใน 1 ปีสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 2-3 ครั้ง ส่วนมะเขือเทศ มีเพียงโรงเรือนเดียวก็ยังเก็บผลผลิตมาขายได้ทุกวัน เพราะทุกอย่างควบคุมได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และยังรวมถึงการแปรรูปเพิ่มมูลค่า ดังนั้น อยากจะเชิญชวนคนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากเป็น Young Smart Farmer ให้ไปที่อุทยานวิทยาศาสตร์ได้ทุกแห่งในมหาวิทยาลัย เพื่อเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรของประเทศไทยให้แม่นยำและหวังผลได้
ซึ่งจะสร้างรายได้ให้เกษตรอย่างเป็นรูปธรรม

   ด้านนายพิเชษฐ กันทะวงค์ กรรมการผู้จัดการโอโซนฟาร์ม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้เข้ามาช่วยโอโซนฟาร์ม โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาทำเรื่องของเมล่อนที่ให้มีรสชาติหวาน พร้อมแปรรูปทำเป็นฟรีชดราย ส่งตลาดนอกเหนือจาก จ.เชียงรายได้ รวมทั้งการใช้ระบบให้อาหารพืชที่ปลูกในโรงเรือนแบบแม่นยำ สามารถลดต้นทุนได้ และยังจัดทำระบบเครื่องจ่ายปุ๋ยผ่านโทรศัพท์มือถือที่สามารถควบคุมได้ ทำให้ผลผลิตในโอโซนฟาร์มมีคุณภาพ เป็นการพลิกโฉมการทำเกษตรแบบใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะหาองค์ความรู้แบบนี้มาจากแหล่งใด ที่สำคัญขณะนี้เกษตรกรรุ่นใหม่ในจ.เชียงราย หรือที่เรียกว่า Young Smart Farmer มีสมาชิกถึง 120 คน ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทยที่ทำการเกษตรแบบใหม่ได้ประโยชน์มากขึ้น โดยสามารถนำผลิตผลทางการเกษตรไปแปรรูปเป็นเครื่องสำอาง เป็นเซรั่มหรือแม้กระทั่งการออกแบบแพ็คเกจจิ้งใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรได้โดยผ่านอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัย แม่ฟ้าหลวง และไม่ต้องทำการเกษตรแบบลองผิดลองถูกอีกต่อไป
แต่ต้องเป็นการเกษตรที่แม่นยำ จึงเป็นทางรอดของเกษตรกรไทย