28-12-2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สนองนโยบายขยายผลการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยวิธีกรณีศึกษา 7 ขั้นตอน

   

   นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เปิดงานเสวนา "การปฏิวัติการทำนาสู่ความยั่งยืน" อำเภอเชียงของ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดย “แอนโทนี่” หรือ นายปิยชนม์ ภุมวิภาชน์ อายุ 17 ปี ได้นำเสนอเชียงรายโมเดล (เชียงรายเมืองสิ่งแวดล้อมโลก) ด้วยโมเดลการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งแอนโทนี่ได้พรีเซ็นต์อย่างฉะฉาน และที่ผ่านมาก็มีผลงานมากมาย เช่น เมื่อเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้นำเสนอกิจกรรมของโรงเรียน และชุมชนให้แก่คณบดีและอาจารย์คณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำจากงาน 5 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว และไทย ซึ่งองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) จัดมาศึกษาดูงานเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีของการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

   ขณะที่มีอายุ 15 ปีได้เป็นผู้ร่วมคิดค้นเทคโนโลยี เครื่องดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วแปลงเป็นพลังงานเชื้อเพลิง เพื่อแก้ไข PM 2.5 ส่งประกวดและเสนอขอการสนับสนุนจาก “อีลอน มัสก์” นักธุรกิจและประดิษฐ์ชื่อดังระดับโลก ซึ่งเปิดการประกวดจากผู้คิดค้นทั่วโลก, เข้าร่วมงานพัฒนาชุมชนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างวัยสู่การอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมไทยสร้างรายได้ให้ชุมชน และ เป็นตัวแทนเยาวชนไทย(ยุวทูต) ของ SEAMEO เป็นต้น โดยแอนโทนี่ได้ขอบคุณนายกฯ ที่สนับสนุนกิจกรรมเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย และบอกด้วยว่าที่ตนได้พัฒนามาถึงขณะนี้ เพราะการปูพื้นฐานในระดับชั้นประถมศึกษาได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีกรณีศึกษา 7 ขั้นตอน จากโรงเรียนบ้านสันกอง จ.เชียงราย ซึ่งนายกฯ ชื่นชม และมอบหมาย ให้กระทรวงศึกษาธิการ ศึกษาวิธีการจัดการศึกษาและขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ๆ “ การจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีกรณีศึกษา 7 ขั้นตอนที่โรงเรียนบ้านสันกอง นำมาใช้พัฒนานักเรียน ดำเนินงานภายใต้ โครงการพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมสู่การพัฒนาชุมชนย่างยั่งยืน ซึ่งสนับสนุนโดยองค์กร Asia-Pacific Cultural Centre for UNESCO (ACCU) ประกอบด้วย 1. การศึกษาชุมชน 2. การศึกษาปัญหาเชิงลึก 3.การนำเสนอปัญหาต่อชุมชน 4. การศึกษาทางเลือกในการแก้ปัญหา 5. การวางแผนงาน/โครงการแก้ปัญหา 6. การลงมือปฎิบัติการแก้ปัญหาตามแผนงาน/โครงการ และ 7.ติดตามประเมินผล และ ชื่นชมความสำเร็จและแนวทางการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง ซึ่งดิฉันจะนำมาขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี

   ทั้งนี้ เส้นทางการศึกษาของน้องแอนโทนี่ มีความน่าสนใจ โดยแอนโทนี่ฝึกภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เรียนที่โรงเรียนบ้านสันกอง จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ชั้นอนุบาล - ป.6 จากนั้นก็สอบได้ทุนของรัฐบาลจีน ไปเรียนที่ประเทศจีน 1 ปี ก่อนจะกลับมาเรียนต่อที่โรงเรียนนานาชาติเกนส์วิลล์เชียงราย และสอบเทียบ ม.6 GED จาก ประเทศสหรัฐอเมริกา คะแนน IELTs Over All score 6.5 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการบ่มเพาะทักษะกระบวนการเรียนรู้ คิดเป็น ทำเป็น  ที่เชื่อมโยงกับบริบทของท้องถิ่นและโลก เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น ”