02-02-2566

ตรีนุช เปิดประชุมองค์การฯ และการแข่งขันทักษะวิชาชีพ และทักษะพื้นฐาน ครั้งที่ 31 ระดับชาติ สร้างคนเก่ง คนดี มีความสุข

    

   วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ณ วิทยาลัยเทคนิคระยอง จังหวัดระยอง นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดงานประชุมวิชาการองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย ระดับชาติ ครั้งที่ 31
ประจำปีการศึกษา 2565 โดยมีนายอนันต์ นาคนิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวให้การต้อนรับ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวรายงาน และมีผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา คณะกรรมการดำเนินงานองค์การนักวิชาชีพ ในอนาคตแห่งประเทศไทย สมาชิกองค์การนักวิชาชีพฯ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมงาน

   นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดี กับสถานศึกษาที่ได้รับรางวัลองค์การมาตรฐานดีเด่น และสมาชิกดีเด่นภายใต้โครงการนิเทศ รวมถึงคณะกรรมการทุกคนที่ได้มาร่วมงานประชุมวิชาการองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย (อวท.) ระดับชาติ ครั้งที่ 31 ประจำปีการศึกษา 2565 ณ ที่แห่งนี้ ทุกคนคือผู้ที่ทำคุณประโยชน์ทางการอาชีวศึกษา ในการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ให้เกิดการพัฒนาศักยภาพบุคคล นำไปสู่เป้าหมายของการเป็นทุนมนุษย์ ที่พร้อมทั้งร่างกาย สติปัญญา และจิตใจ มีสมรรถนะการดำเนินชีวิต ให้มีทักษะอาชีพที่สำคัญและจำเป็น เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในโลกแห่งศตวรรษใหม่
จึงนับได้ว่าการจัดประชุมวิชาการองค์การนักวิชาชีพฯ ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาความเป็นเลิศด้านอาชีวศึกษา เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพเทียบเท่าสากล และเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายและเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้ความสำคัญในการยกระดับวิชาชีพ ให้มีมาตรฐาน เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณธรรม จริยธรรม พัฒนาเรื่องการทำงานเป็นทีมและการอยู่ร่วมกัน
พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีคุณภาพ เปิดกว้างทางความคิด พร้อมแสวงหาความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต ทั้งให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง สถานศึกษา ชุมชน สังคม และประเทศชาติได้อย่างมีความสุข และขอให้สมาชิกองค์การนักวิชาชีพฯ ร่วมกันสรรสร้างให้องค์การนักวิชาชีพฯ ของ สอศ. ก้าวไกลสู่สากลในอนาคตต่อไป

   ด้านว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การประชุม อวท. ระดับชาติ ครั้งที่ 31 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2566 ณ จังหวัดระยอง เป็นนโยบายพัฒนาเยาวชนให้มีคุณภาพและมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เป็นผู้นำทางด้านวิชาชีพ สอดรับกับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ในการยกระดับการจัดการศึกษา ส่งผลให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาเกิดประสบการณ์ เพิ่มทักษะสมรรถนะสูง และได้พัฒนาตนเอง โดยมีกิจกรรม 2 ส่วน ได้แก่ การประชุมวิชาการของสมาชิกองค์การนักวิชาชีพฯ และการแข่งขันทักษะวิชาชีพและทักษะพื้นฐาน และ สอศ. จัดให้มีการประเมินองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย และสมาชิกดีเด่นโครงการภายใต้การนิเทศ เพื่อมุ่งเน้นคุณธรรมนำวิชาชีพ สนับสนุนให้สมาชิกเป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข ตลอดจนสร้างสรรค์ความสามารถในหมู่คณะ สามารถพัฒนากิจกรรมองค์การให้มีความเจริญก้าวหน้า เพื่อพัฒนามาตรฐานองค์การฯ ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน การจัดงานในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 2,500 คน จากสถานศึกษาสังกัด สอศ. รวม 431 แห่ง ทั่วประเทศ และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานประกอบการร่วมให้การสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ด้วย

   

   ทั้งนี้มีสถานศึกษาที่ได้รางวัลการประเมินองค์การมาตรฐานดีเด่น รางวัลชนะเลิศระดับเหรียญทอง ประเภทสถานศึกษาขนาดเล็ก ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคเขาวง ประเภทสถานศึกษาขนาดกลาง ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาร้อยเอ็ด และประเภทสถานศึกษาขนาดใหญ่ ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช และ การประเมินสมาชิกดีเด่นโครงการภายใต้การนิเทศ รางวัลชนะเลิศ ระดับ ปวช. ประเภทสถานศึกษาขนาดเล็ก ได้แก่ นางสาววัณภา นารากร วิทยาลัยการอาชีพพนมทวน ประเภทสถานศึกษาขนาดกลาง ได้แก่ นายอนุศิษฐ์ ท่าพิมาย วิทยาลัยเทคนิคคูเมือง และประเภทสถานศึกษาขนาดใหญ่ ได้แก่ นางสาวณัฐธิดา ดีนิน วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม ระดับ ปวส. ประเภทสถานศึกษาขนาดเล็ก ได้แก่ นางสาวกัลยารัตน์ สุยะเรือน วิทยาลัยการอาชีพเถิน ประเภทสถานศึกษาขนาดกลาง ได้แก่ นายธนกร แซ่ลิ้ม วิทยาลัยเทคนิคสตูล และประเภทสถานศึกษาขนาดใหญ่ ได้แก่ นายธนนันท์ ตันใจ วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง และให้สมาชิก อวท. ทุกคน ได้นำความรู้ความสามารถให้เกิดประโยชน์ ทั้งต่อตนเอง และประเทศชาติ อย่างเหมาะสมและสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบูรณาการวิชาชีพให้ก้าวสู่สากล และส่งเสริมภาพลักษณ์ของการจัดการอาชีวศึกษา โดยใช้กิจกรรม อวท. ในการขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมที่สร้างสรรค์ และมีประโยชน์ ได้อย่างยั่งยืน เลขาธิการ กอซ. กล่าวปิดท้าย