09-02-2566

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชูสถาบันวิทยาลัยชุมชน ธงนำการอุดมศึกษาไทยที่สร้างโอกาสทางการศึกษาเพื่อคนยากไร้

   ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. เป็นประธานการสัมมนา เรื่อง “วิทยาลัยชุมชน สถาบันอุดมศึกษา สร้างโอกาสแก่ชุมชน” พร้อมกล่าวว่า สถาบันวิทยาลัยชุมชน หรือ วชช. เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ตอบโจทย์นโยบายสำคัญ ๆ ของกระทรวง อว. โดยเฉพาะการสร้างโอกาสให้คนยากไร้ คนชายขอบ เพราะมีการจัดการศึกษาและหลักสูตรในภาพรวมที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ทันทีหรือนำไปต่อยอด เพื่อศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ วชช.จึงเป็นสถาบันที่เปิดโอกาสให้กับประชาชนทุกเพศทุกวัยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และทำให้คน 10% ที่มีฐานะยากจนในระดับล่างสุด รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้ได้รับการศึกษา เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับผู้ที่ยากไร้ที่สุด โดยมีหลักคิดคือ การเป็นสถาบันการศึกษาที่ช่วยคนด้อยโอกาส ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นหลักคิดที่เป็นหนึ่งในเป้าประสงค์ของการจัดการและปฏิรูปอุดมศึกษา ที่มีการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติ มีการนำเอาคนคนเก่ง มีความรู้จริง มีความสามารถมาสอน โดยไม่จำเป็นต้องมีวุฒิหรือมีปริญญาหรือตำแหน่งทางวิชาการ นับเป็นการยกย่องภูมิปัญญาท้องถิ่น เชิดชูผู้ปฏิบัติงานได้จริง และแสดงให้เห็นว่าความรู้เกิดนอกมหาวิทยาลัยได้ เกิดจากการทำงานและจากชุมชน ทำให้ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยต้องไปเรียนรู้จาก วชช. ในเรื่องนี้ เรียกได้ว่า เป็นการกลับขั้วครั้งใหญ่ของการอุดมศึกษา โดยมี วชช.เป็นหน่วยนำด้านการจัดการศึกษาเพื่อกลุ่มคนที่ขาดโอกาสในสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง สถาบันวิทยาลัยชุมชน หรือ วชช. จะเป็นธงนำของการอุดมศึกษาไทยในการสร้างโอกาสให้ชุมชน มุ่งผลิตหลักสูตรที่ตอบโจทย์ชุมชนและคนในพื้นที่ โดยร่วมทำงานกับ “ธัชภูมิ” ที่อว.เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อสังเคราะห์ความรู้ในเชิงพื้นที่และให้ทุนวิจัยเรื่องชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของ วชช. ต่อไปในอนาคต

   ด้าน ดร.สิริกร มณีรินทร์ นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน หรือ วชช. กล่าวว่า วชช. มีหลักสูตรที่ตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพในแต่ละพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค หลักสูตรมี ความหลากหลาย เช่น หลักสูตรอนุปริญญา หลักสูตรประกาศนียบัตร หลักสูตร ปวส. หลักสูตร ปวช. มีผู้เรียนจำนวน 16,774 คน และหลักสูตรฝึกอบรม โดยเฉพาะหลักสูตร Nondegree (นันดีกรี) มีผู้เรียนจำนวน 61,234 คน และยังมีแนวโน้มของผู้เรียนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับในทุกหลักสูตร โดยสามารถแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำให้ผู้ที่มีฐานะยากจนในระดับล่างสุด 10% ชนกลุ่มชาติพันธุ์ ให้เข้าถึงการศึกษา พัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ ด้วยทุนการศึกษาจากแหล่งทุนกว่า 939 ทุน นอกจากนี้ ยังมีโครงการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจน ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชัยนาท มุกดาหาร และยโสธร โดยใช้กระบวนการค้นหา คนจน จัดทำโมเดลแก้จน การยกระดับรายได้ บรรจุโมเดลแก้จนในแผนพัฒนาจังหวัด และส่งต่อนักศึกษาเข้าโครงการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รวมถึงสืบสานงานศิลป์ “ช่างศิลป์ท้องถิ่น” ใน 14 วิทยาลัยชุมชน เพื่อผลักดันให้ทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ