23-02-2566

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับรางวัลพิเศษในงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีทรัพย์สินทางปัญญานานาชาติ

   รองศาสตราจารย์ ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท หัวหน้าทีมวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร หนึ่งในผู้ ได้รับรางวัลพิเศษในงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีทรัพย์สินทางปัญญานานาชาติ หรือ IPITEX 2023 จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในงานวันนักประดิษฐ์ 2566 กล่าวว่า ประเทศไทยมีชื่อเสียงในการส่งออกผลไม้สดโดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่มีความโดดเด่นและได้รับความ นิยมอย่างมากจากชาวต่างชาติ แต่ยังมีตลาดอีกหลายแห่งที่น่าสนใจและควรไเ้รับการพัฒนาสนับสนุนให้มีการส่งออก อาทิ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และสหรัฐอเมริกา

   ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาผู้ส่งออกผลไม้ไทยต้องประสบปัญหาในการขนส่งสินค้าทางอากาศ เป็นอย่างมาก ทีมวิจัยได้ค้นพบแนวทางช่วยเหลือผู้ส่งออกมะม่วงนำ้ดอกไม้สีทอง จาก งานวิจัย ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช ให้ทุนในโครงการ
การบริหารจัดการสายโซ่คุณค่ามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองด้วยการประเมินความสุกแก่ของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองโดยใช้เทคนิค เนียร์อินฟราเรดสเปกโตรสโกปีแบบไม่ทำลายผลิตผล สามารถประเมินคุณภาพได้อย่างรวดเร็วถูกต้องมีความแม่นยำสูงและเชื่อถือได้ ในการขนส่งทางเรือใช้ตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมบรรยากาศให้มีความเข้มข้นออกซิเจนที่ร้อยละ 3 และคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ที่ร้อยละ 5 ร่วมกับสารชะลอความสุกแก่ I-MCP เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13-15 องศาเซลเซียส รวมทั้งใช้บรรจุภัณฑ์ดัดแปลงสภาพบรรยากาศ ได้แก่ถุง White Ethylene Absorbing Bag ห่อมะม่วงน้ำดอกไม้ ทำการส่งไปที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ใช้เวลาขนส่ง 28 วัน มีระยะเวลาจำหน่ายอีก 7-9 วัน

   ผลการประเมินความคุ้มค่าพบว่า การขนส่งทางเรือด้วยวิธีนี้มีต้นทุนต่อกล่องต่ำกว่าการขนส่งทางอากาศอย่างมีนัยสำคัญ การเน่าเสียของมะม่วงต่อปริมาณการส่งออกไม่เกินร้อยละ 30 ลดต้นทุนร้อยละ 11 ต่อปริมาณการส่งออกตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป เป็นแรงจูงใจที่สามารถเป็นทางเลือกในการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้ สีทองไปต่างประเทศได้ ช่วยผู้ส่งออกผลไม้สดไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกอีกทางหนึ่ง

   รองศาสตราจารย์ ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีข่าวที่น่ายินดีว่า ผลงานวิจัยเรื่องส้มโอฉายรังสีเพื่อการส่งออกที่ ทีมวิจัยได้รับทุนจาก วช. โดยความร่วมมือกับ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ หรือ สทน. สามารถตอบโจทย์การส่งออก ส้มโอไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก เนื่องจากข้อกำหนดการส่งออกผลไม้ มะม่วง ลำไยและส้มโอ จะต้องผ่านการฉายรังสีในปริมาณ 400 เกรย์ เพื่อป้องกัน แมลงวันผลไม้ ซึ่งทีมวิจัยได้ทำเรื่องนี้สำเร็จแล้ว มีส้มโอที่ต้านทานรังสีในปริมาณ 400 เกรย์โดยรักษาคุณภาพไว้ได้ ประกอบด้วยพันธ์ส้มโอพันธ์ุทับทิมสยาม พันธุ์ขาวใหญ่ พันธุ์ทองดีและพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง ซึ่งจะทำให้ ส้มโอไทยสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้มากขึ้น เพราะรสชาติหวานอมเปรี้ยว มีผิวและสีสันสวยงามเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคโดยเฉพาะชาวเอเชียที่นิยมนำส้มโอไปไหว้บรรพบุรุษ ไหว้เจ้าตามประเพณีและในงานประเพณี ถือเป็นผลไม้มงคล จะทำให้เกษตรกรสวนส้มโอที่ปลูกในพื้นที่ต่างๆ อาทิ ที่จังหวัดพิจิตร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐมและส้มโอทับทิมสยามที่ปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยระหว่างวันที่ 5-12 มีนาคม 2566 จะนำส้มโอและมะม่วงมหาชนกไปจัดแสดงในงาน Natural Product ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าเกษตร สินค้าธรรมชาติและการแปรรูปที่ใหญ่ที่สุด จัดที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยได้รับความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตร ผู้ส่งออกผู้นำเข้าของไทยซึ่งจะเป็นการประกาศความพร้อมในการส่งส้มโอ และมะม่วงมหาชนกไปยังสหรัฐอเมริกาต่อไป

   นอกจากนี้ โครงการวิจัยล่าสุดที่เพิ่งได้รับทุนจาก บพข. ได้แก่ โครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไร้คาร์บอน เป็นโครงการระยะ 1 ปี 6 เดือน ซึ่งจะทำโครงการพานักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสสวนผลไม้ที่ไร้คาร์บอนตอบโจทย์ผู้บริโภคที่อยากเข้าไปเยี่ยมชมส
วนตั้งแต่ช่วงใกล้เก็บเกี่ยว เพื่อสัมผัสกับธรรมชาติ กำหนดพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง และปากช่อง ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ที่จังหวัดพิษณุโลก สตรอเบอรี่ที่เขาค้อ องุ่นไชมัสแคทที่นำมาปลูกตั้งแต่พิษณุโลกถึงเชียงใหม่ เพื่อให้การท่องเที่ยวเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร เป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจากสวนผลไม้ซึ่งจะต้องมีสิ่งดึงดูดใจใหม่ๆ และทำให้เกษตรกรต้องปรับตัว โดยจะเข้าไปให้คำแนะนำเรื่องการจัดการพื้นที่ การบริหารจัดการนักท่องเที่ยว ความสะดวกสบาย ความปลอดภัย ให้นักท่องเที่ยวรู้สึกไปแล้วอยากไปอีก กิจกรรมจะมีทั้งชม ชิม ช้อป แชะ ทั้งหมดจะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อทำให้สวนผลไม้ขายได้มากขึ้น