28-02-2566

กระทรวงวัฒนธรรม เดินหน้ายกระดับ 16 เทศกาลประเพณี สั่งเข้มสวจ.ทั่วประเทศเตรียมสนับสนุน ประสานงาน ดึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมพา CPOT ขยายตลาดสู่นอก

   

   นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานการประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ครั้งที่ 2/2566 ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ชั้น 8 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม และผ่านระบบ ZOOM ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม แจ้งต่อที่ประชุมว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม ได้คัดเลือก 16 เทศกาลประเพณีเพื่อยกระดับไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ และมีการแถลงข่าวเปิดตัวที่ผ่านมา เป็นที่น่ายินดีที่นายกรัฐมนตรีได้สนับสนุนอย่างเต็มที่ และมีแนวทางผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อนและยกระดับ Soft Power ของไทยด้านอื่นๆ ที่มีศักยภาพ และมีความโดดเด่น เพื่อสืบสาน ยกระดับประเพณีอันดีงามของไทย รวมถึงสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจ BCG เพื่อความยั่งยืน ตามแนวทางนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอความร่วมมือให้ส่วนภูมิภาค สำนักงานวัฒนธรรมทั่วประเทศ เตรียมพร้อมสำหรับการจัดงานและวางแผนการยกระดับเทศกาลประเพณี ประสานงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชนในพื้นที่
โดยจะดำเนินงานสนับสนุนการจัดงานผ่านกิจกรรมการจัดแสดงลานสาธิตเทศกาลประเพณีนำเสนออัตลักษณ์ อันโดดเด่น ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย การแสดงศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ไปสู่ระดับนานาชาติให้เป็นที่รู้จัก เพื่อตอบสนองนโยบายมุ่งผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย 5F พร้อมเห็นชอบการจัดทำปฏิทินการลงพื้นที่ติดตามและประเมินผลการยกระดับเทศกาลประเพณี ตลอดจนให้มีการรายงานผลการดำเนินงานหลังการจัดงานเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อติดตามทิศทางการเปลี่ยนแปลงหลังจากวธ. เข้าร่วมสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและด้านการจัดกิจกรรมต่างๆ นำมาวิเคราะห์ วางแผน พัฒนา ตลอดจนการสนับสนุนให้การยกระดับเทศกาลประเพณีมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

   ทั้งนี้ 16 เทศกาล/ประเพณี ประกอบด้วย 1. ประเพณีกตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จังหวัดปัตตานี 2. เทศกาลมรดกโลกบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี 3. ประเพณีหกเป็งนมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง จังหวัดน่าน 4. ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก " มาฆบูชา อารยธรรมอีสาน "  จังหวัดยโสธร 5. ประเพณีแห่ผ้าพระบฏพระราชทานถวายพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช 6. เทศกาลโคราชเมืองศิลปะ KORAT Street Art จังหวัดนครราชสีมา 7. เทศกาลตามรอยอารยธรรมขอมโบราณ ปราสาทศิลา "สด๊กก๊อกธม" จังหวัดสระแก้ว 8. เทศกาลเมืองคราม สกลนคร (KRAM & CRAFT SAKON FESTIVAL) นครหัตถศิลป์โลก เจ้าแห่งครามธรรมชาติ จังหวัดสกลนคร
9. เทศกาลอาหารอร่อย เมืองภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์แห่งวิทยาการอาหาร จังหวัดภูเก็ต 10. ประเพณีบุญกลางบ้าน สืบสานตำนานเมืองพนัส จังหวัดชลบุรี 11. เทศกาล "นาฏยแห่งศรัทธา กิ่งกะหร่า น้อมบูชา วิสาขปุรณมี" จังหวัดแม่ฮ่องสอน 12. ประเพณีตักบาตรดอกไม้เข้าพรรษา จังหวัดสระบุรี 13. ประเพณีบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช เลาะตลาดคนเมืองไทนคร จังหวัดนครพนม 14. เทศกาลไทลื้อ "โฮ่มฮีต โตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ" จังหวัดพะเยา 15. เทศกาลอาหารผสานศิลป์ เมืองเพชร เมืองสร้างสรรค์ จังหวัดเพชรบุรี และ16. เทศกาลโคมแสนดวงที่เมืองลำพูน จังหวัดลำพูน นางยุพา กล่าวอีกว่า เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น สนับสนุนฝีมือปราชญ์ชาวบ้าน และยกระดับผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย หรือ CPOT (ซีพอท) ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย CCPOT (ซีซีพอท) กระทรวงวัฒนธรรม. จึงมีโครงการดำเนินการคัดเลือกและส่งผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยที่มีศักยภาพให้แก่หน่วยงานเอกชน ส่งเสริมการขยายตลาดการค้าทั้งในและต่างประเทศ นับเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายทั่วโลก
ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ อาทิ นำสินค้า CPOT วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า Big C รวมถึงขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาความร่วมมือกับแอพพลิเคชั่นซื้อขายออนไลน์ต่างๆ หารือรูปแบบการจำหน่ายและแนวทางการประชาสัมพันธ์ให้เกิดความน่าสนใจ เกิดรายได้แก่ชุมชน ประเทศ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทย