16-03-2566

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ชูโมเดล “สวนป้องกันฝุ่น PM2.5 และ เฝ้าระวังฝุ่น PM2.5” เพิ่ม พื้นที่สีเขียว ช่วยลดผลกระทบปัญหาฝุ่นละออง ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ที่สูงเกินมาตรฐาน

   ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. กล่าวว่า วช. มีเป้าหมายสำคัญ ในการขับเคลื่อนผลผลิตและผลสำเร็จจากผลงานวิจัยที่แล้วเสร็จสู่การใช้ประโยชน์ โดยการสื่อสารและให้เห็นภาพการทำงานที่เกิดสาธารณประโยชน์แก่พี่น้องภาคประชาชน ซึ่งปัญหาฝุ่นละออง หรือ ฝุ่น PM2.5 เป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นทุกปี วช. เล็งเห็นถึงปัญหาที่ประชาชนได้รับ จึงสนับสนุนทุนวิจัยในแผนงานโครงการวิจัยเพื่อทำงานในเชิงพัฒนาชุดข้อมูลองค์ความรู้จากงานวิจัย แก่ ดร.ภูชีวันท์ สุริยะวงศ์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กัญจน์ ศิลป์ประสิทธิ์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และรองศาสตราจารย์ ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เกิดเป็นระบบสารสนเทศ เทคโนโลยี นวัตกรรมที่ช่วยลดผลกระทบจาก ฝุ่น PM2.5 ซึ่งผลงานดังกล่าวอยู่ในกรอบการวิจัยและนวัตกรรมที่ วช. ให้การสนับสนุนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

   โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วช. ได้นำระบบเทคโนโลยีการเฝ้าระวังมาใช้ในการให้ข้อมูลเชิงสาธารณะ คือ “ระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ” หรือ “ศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ (Air Quality Information Center: AQIC)” ที่มีการดำเนินงานมอย่างต่อเนื่อง โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อการติดตามเฝ้าระวังและเตือนภัยด้วยข้อมูลฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีการรายงานผลและเห็นภาพของการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นเซ็นเซอร์ในการตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 ที่สามารถติดตามคุณภาพอากาศของประเทศได้ อาทิ DustBoy (ดัสบอย) ที่รายงานผลในระบบของการติดตามคุณภาพอากาศ และการติดตามในเชิงระบบ การจำลองคุณภาพอากาศ การพยากรณ์คุณภาพอากาศ การติดตาม โดยข้อมูลการทำงานดังกล่าวเป็นการร่วมมือและเชื่อมโยงข้อมูลจากภาคีเครือข่ายหลายหน่วยงาน ทั้งในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มลภาวะ มลพิษทางอากาศ ซึ่งทำให้เห็นการเข้าถึง เกิดนวัตกรรมในลักษณะเทคโนโลยี เกิดรูปแบบของการใช้งานที่ไม่ยุ่งยาก เช่น เว็บไซต์ แอปพิเคชันบนมือถือ เป็นต้น

   ในส่วน“การใช้ไม้ยืนต้นลดฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน ด้วยรูปแบบโครงสร้างและลำดับชั้นต้นไม้แบบนิเวศป่า ในเมือง” ได้มีการศึกษาวิจัยและเห็นภาพของการนำต้นไม้หลายพันธุ์ที่ใช้ประโยชน์ในการสร้างระบบนิเวศ ในป่าเมือง ทำให้ทราบชนิดพืชที่มีศักยภาพในการลดฝุ่น PM2.5 และกลไกการบำบัดฝุ่นด้วยพืช เกิดเป็นแนวคิดการสร้างแบบจำลองระดับเมืองหรือระดับถนน โดย อ้างอิงจากข้อมูลอัตราการไหลและทิศทางการไหลของอากาศในพื้นที่จริง เพื่อให้เห็นรูปแบบการไหลเวียนอากาศตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อันเป็นภาพรวมและประโยชน์จากงานวิจัย การใช้ไม้ยืนต้นลดฝุ่นอย่างยั่งยืนด้วยรูปแบบโครงสร้างและลำดับชั้นต้นไม้แบบ ป่าในเมือง ซึ่งในสวน “ภูมิทัศน์พรรณไม้ลดฝุ่น PM2.5” ประกอบไปด้วยต้นไม้ 3 ระดับ ได้แก่ ไม้ขนาดใหญ่ เป็นต้นไม้เดิมจะปกคลุมชั้นเรือนยอด เช่น ราชพฤกษ์ประดู่บ้าน และพิกุล โดยไม้ที่นำมาปลูกเพิ่มจะเป็นไม้ขนาดกลางและไม้ขนาดเล็ก โดยทั่วไปนั้นฝุ่นละอองเล็ก PM2.5 จะถูกพัดพาไปตามกระแสอากาศ ดังนั้น สวนแห่งนี้จึงมีการออกแบบให้กระแสอากาศที่มาจากถนนไหลไปตามแนวพื้นที่ว่างเกิดจากการปลูกต้นไม้ที่มีใบ ขนาดเล็กทรงโปร่งเป็นแนวดักลมเมื่ออากาศเคลื่อนที่ช้าลงทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กถูกดักจับด้วยใบพืชที่มีประ สิทธิภาพในการลด PM2.5 ส่วนความชื้นจากการคายน้ำของพืชบริเวณนั้นยังช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับ ฝุ่นละลองขนาดเล็กให้เคลื่อนที่ลดลง เพิ่มเวลาให้พืชช่วยดักจับฝุ่นขนาดเล็กได้ นอกจากนี้ภายในสวนยังมี โซนจัดวางต้นไม้กันฝุ่น ได้แก่ โซนลิ้นมังกรสู้กลิ่น พันธุ์ไม้อวบน้ำและพืชในกลุ่ม อาทิ ต้นลิ้นมังกร ต้นสับปะรดสี ที่มีสรรพคุณช่วยลดสารระเหย กลิ่นเหม็นและฝุ่นได้ดี และยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในเวลากลางคืนด้วย ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า ต้นลิ้นมังกร สามารถลดฝุ่นได้มากกว่าร้อยละ 40 ในระบบปิดขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร ที่ความเข้มข้น PM2.5 เริ่มต้นที่ 450 – 500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร โซนพันธุ์ไม้มีขนลด PM2.5 ต้นไม้หลายชนิดมีใบที่มีขนที่ช่วยในการจับตรึง ฝุ่นละอองในอากาศได้ โดยพืชที่มีลักษณะดังกล่าว อาทิ ต้นพรมกำมะหยี่ และต้นพรมญี่ปุ่น โดยต้นพรมกำมะหยี่ สามารถลดฝุ่นได้มากกว่าร้อยละ 60 ในระบบปิดขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร ที่ความเข้มข้น PM2.5 เริ่มต้นที่ 450 – 500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และโซน พันธุ์พืชลดมลพิษ อาทิ ต้นไทรใบสัก ต้นมอนสเตอร์เรล่า ต้นหมาก ต้นเดหลี ต้นพลูปีกนก ต้นคล้ากาเหว่าลาย ต้นกวักมรกต ต้นคล้าแววมยุรา และต้นคล้านกยูง ซึ่งจากงานวิจัยพันธุ์พืชลดมลพิษพบว่า พืชจำนวนมากสามารถช่วยบำบัดฝุ่นและมลพิษอากาศอื่น ๆ ได้ดี อีกด้วย