17-03-2566

สสว. ร่วมกับ สอวช. เปิดตัว “โครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG” ติดอาวุธความรู้ ยกระดับผู้ประกอบการ 1,000 รายทั่วประเทศ

   รองศาตราจารย์ ดร. วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยปรับใช้ BCG Economy Model เข้าไปช่วยตอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศ ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาศัยกลไกทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้น และเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจาก “ทำมากแต่ได้น้อย” ไปสู่ “ทำน้อยแต่ได้มาก”

   ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวด้วยว่า สสว. เป็นหน่วยงานหลัก ในการส่งเสริมและสนับสนุน MSME ในด้านต่าง ๆ เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG โดยผ่านกลไกการพัฒนา BCG ไปสู่ผู้ประกอบการ MSME ใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาต่อยอดธุรกิจด้วยการใช้คลังข้อมูลดิจิทัลของทุนความหลากหลายทางชีวภาพ ทุนวัฒนธรรม และทุนทางปัญญา รวมถึงใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่ 2.สร้างตลาดเพื่อรองรับนวัตกรรมของสินค้าและบริการ BCG 3.การยกระดับรายได้ด้วยการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ผ่านการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าให้มีชั้นนวัตกรรม ที่สูงขึ้น ยกระดับสินค้าและบริการ BCG สู่มาตรฐานผลิตที่ยั่งยืนและเป็นมาตรฐานสากล ทั้งยังสร้างและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับเศรษฐกิจ BCG ผ่านการสร้างนักพัฒนา BCG

   ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. กล่าวถึงการร่วมดำเนินงานในโครงการนี้ว่า สอวช.ใช้จุดแข็งและบทบาทของ สสว. และ สอวช. เพื่อขับเคลื่อนภายใต้เป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ MSME ให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขัน การเติบโตในระยะยาวและยั่งยืน

   ที่ผ่านมา สอวช. ได้ดำเนินการด้านขับเคลื่อนเชิงนโยบายโดยใช้นวัตกรรมมาเป็นฐานในการขับเคลื่อน BCG หลายประเด็น โดยเฉพาะการออกแบบเชิงระบบสำหรับงานวิจัยในโครงการนี้ สอวช. จะทำวิจัยนโยบายร่วมกับเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) เพื่อออกแบบการใช้ตัวชี้วัด กรอบการประเมิน กรอบเชิงโครงสร้างหน่วยงาน ที่จะมาสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากตัวชี้วัด และการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในลักษณะขั้นบันไดการพัฒนา ซึ่งการทำงานจะออกแบบให้ครอบคลุมทั้งการพัฒนาระบบกระตุ้นผู้ประกอบการที่จะปรับตัวธุรกิจ
การดำเนินงาน BCG พร้อมทั้งสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวรับโอกาสได้ สอวช. มีแผนที่จะขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมให้เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการในการประยุกต์ใช้แนวคิด BCG และนวัตกรรม ซึ่งโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างระบบการสนับสนุนนวัตกรรม และการสนับสนุน MSME และการสร้างตระหนักรู้ของผู้ประกอบการจากโครงการนี้ จะเป็นบันไดขั้นแรกของผู้ประกอบการสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยแนวคิด BCG เกิดการนำไปปฏิบัติจริงในการพัฒนาธุรกิจตนเองต่อไป รวมถึงเกณฑ์ตัวชี้วัด BCG ที่เกิดขึ้นจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรม BCG และการสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป