22-03-2566

สพฐ. ร่วมกับ 4 หน่วยงาน พัฒนาโรงเรียนต้นแบบด้านอาหารและโภชนาการ “S.M.A.R.T.S Model school”

   นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธาน ในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือการดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนต้นแบบด้านอาหารและโภชนาการในโรงเรียน S.M.A.R.T.S Model school ภายใต้โครงการ “อายิโนะโมะโต๊ะ โภชนาการเพื่อเด็กไทย ก้าวไกลสร้างชาติ” ระหว่าง 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ สถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยมีผู้บริหารหน่วยงาน ได้แก่ รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานกรรมการมูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ รศ.ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผศ.อิทธิพล โพธิพันธุ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมลงนาม พร้อมด้วยคณะทำงานของทั้ง 4 หน่วยงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

   เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รับทราบมาโดยตลอดว่ามูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ได้สนับสนุนและดำเนินการโครงการที่เกี่ยวข้องกับอาหารและโภชนาการสำหรับเด็กนักเรียนในโรงเรียนภายใต้ สังกัด สพฐ. มาอย่างต่อเนื่อง และด้วยเจตนารมณ์ของมูลนิธิฯ ที่ต้องการเห็นการต่อยอดการดำเนินงานไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง จึงเป็นที่มาของพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงานในวันนี้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะมาร่วมกันผลักดันและพัฒนาให้โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ได้มีการยกระดับด้านการจัดการอาหารและโภชนาการได้อย่างดียิ่งขึ้นจากการดำเนินงานโครงการนี้ ซึ่งมีระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2566-2570 ด้วยการสนับสนุนงบประมาณรวมทั้งสิ้น 15 ล้านบาท
เพื่อพัฒนาและยกระดับบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถด้านอาหารและโภชนาการสำหรับเด็กวัยเรียน ในการมุ่งไปสู่การมีระบบการจัดการด้านอาหาร โภชนาการ และสุขภาพของนักเรียนสู่มาตรฐานระดับสากลอย่างมั่นคงและยั่งยืน อันจะนำมาซึ่งสุขภาพและโภชนาการที่ดีให้กับนักเรียนไทยอย่างมีระบบ อีกทั้งโครงการโรงเรียนต้นแบบอาหารและโภชนาการในโรงเรียน S.M.A.R.T.S. Model school นี้จะส่งผลให้โรงเรียนในโครงการฯ เป็นแหล่งเรียนรู้ในการจัดทำโครงการด้านโภชนาการและสุขภาพ พร้อมทั้งมีความสามารถที่จะเผยแพร่และขยายผลกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ไปยังโรงเรียนใกล้เคียงในเครือข่ายแ ละเขตพื้นที่การศึกษา ส่งผลให้เด็กนักเรียนมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน
“ในนามของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ต้องขอขอบคุณในความร่วมมือจาก 3 หน่วยงาน อันได้แก่ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านอาหารและโภชนาการของเด็กนักเรียนไทย รวมไปถึงบุคลากรของ สพฐ. ที่จะเป็นกำลังในการส่งเสริมให้ภาวะโภชนาการและสุขภาพของเด็กนักเรียน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติให้แข็งแรงและยั่งยืนต่อไป โดย สพฐ. ให้คำมั่นสัญญาว่าจะสนับสนุนการดำเนินงานตามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือนี้ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ ตั้งไว้ร่วมกัน” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

   ทั้งนี้ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ได้ดำเนินงานสนับสนุนและส่งเสริมงานด้านอาหารและโภชนาการสำหรับนักเรียนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 โดยให้การสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างโรงอาหารให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนในสังกัด สพฐ. ให้ได้มีโรงอาหารที่ได้มาตรฐานและถูกสุขลักษณะ ซึ่งยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี พ.ศ. 2570 ตามบันทึกข้อตกลงฉบับล่าสุดกับ สพฐ. โดยจะมีโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนโรงอาหารทั้งสิ้น 180 หลัง และในปี พ.ศ. 2560 มูลนิธิฯ ได้ต่อยอดการดำเนินงานดังกล่าวในการส่งเสริมและสนับสนุนความรู้ด้านอาหารและโภชนการ ด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานผู้มากด้วยความรู้และความเชี่ยวชาญ ได้แก่ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในการร่วมกันจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการด้านโภชนาการ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านอาหารและโภชนาการให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องในโรงเรียนและเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาฯ ที่ดูแลโรงเรียนในโครงการ โดยการลงนามฯ ในครั้งนี้ มีระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2571 ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงเรียนสามารถมีระบบการจัดการด้านอาหารและโภชนาการในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนสามารถยกระดับไปสู่มาตรฐานสากลได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยมูลนิธิฯสนับสนุนงบประมาณการดำเนินโครงการเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 15 ล้านบาท และจะร่วมดำเนินงานด้านต่างๆ กับหน่วยงานความร่วมมือที่เกี่ยวข้องต่อไป