18-04-2566

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สนับสนุนเยาวชนไทยร่วมแข่งขันนำเสนอผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์บนสถานีอวกาศนานาชาติ

   ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เปิดเผยว่า ตามที่ สวทช. ร่วมกับแจ็กซาดำเนินโครงการ Asian Try Zero-G 2022 เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยส่งแนวคิดการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำเข้าร่วมแข่งขันกับเยาวชนจากประเทศ สมาชิก ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งแจ็กซาได้เลือกข้อเสนอการทดลองจาก 5 ประเทศ จำนวน 6 เรื่อง ขึ้นไปทดลองจริง ในห้องทดลองคิโบะ โมดูล (Kibo Module) บนสถานีอวกาศนานาชาติ โดย นายโคอิจิวะกาตะ นักบินอวกาศญี่ปุ่น เมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 แจ็กซาได้จัดเวทีแข่งขันนำเสนอ ผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์บนสถานีอวกาศนานาชาติในรูปแบบออนไลน์ เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนได้ฝึกรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และสรุปผล โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม ในจำนวนข้อเสนอการทดลองที่ได้รับคัดเลือกขึ้นไปทดลองจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติและร่วมแข่งขันนำเสนอผลการทดลองทั้งหมด 6 เรื่องนั้น มีผลงานของเยาวชนไทยจำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ การทดลองเรื่อง การศึกษาพฤติกรรมของก้อนน้ำทรงกลมเมื่อถูกแรงกระทำในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ ของ นางสาวจิณณะ วัยวัฒนะ นักเรียนชั้น ม. 6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และการทดลองเรื่อง การศึกษาระดับน้ำที่สูงขึ้นจากแรงดึงของผิวภาชนะในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ ของนางสาวอินทิราภรณ์ เชาว์ดี บัณฑิตจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในการแข่งขันนำเสนอผลการทดลอง เยาวชนไทยทั้ง 2 คน ได้ค้นคว้าหาข้อมูลถึงหลักการทางวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนสมมติฐานและผลการทดลองที่ได้เห็นจากการรับชมการถ่ายทอดสดการทดลองจากสถานีอวกาศนานาชาติแบบเรียลไทม์ ทั้งนี้ ภายหลังเยาวชนทั้ง 5 ประเทศนำเสนอผลการทดลองผ่านระบบออนไลน์เสร็จสิ้น คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศต่าง ๆ ได้คัดเลือกให้ นางสาวจิณณะ วัยวัฒนะ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และทีมเยาวชนจากประเทศญี่ปุ่น ได้รับรางวัลชนะเลิศ Kibo-ABC Award ส่วนผู้ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ Crew Award คือ เยาวชนจาก ไต้หวัน

   นางสาวจิณณะ วัยวัฒนะ หรือ น้องพรีม เล่าความรู้สึกว่า หลังจากข้อเสนอที่ได้รับคัดเลือกถูกทดลองจริง บนสถานีอวกาศนานาชาติ ต้องจัดทำข้อมูลสรุปผลและเตรียมสไลด์เพื่อนำเสนอกับทางแจ็กซา ซึ่งมีการศึกษาค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างมาก เนื่องจากผลการทดลองที่ได้มีทั้งที่เป็นไปตามสมมติฐานและแตกต่างออกไป รวมถึงในบางประเด็นก็ต้องใช้ความรู้เชิงลึกด้านวัสดุศาสตร์และของไหลมากขึ้น ต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกสืบค้นงานวิจัยหรือหาหนังสือฟิสิกส์มาอ่านจนเจอหลักการที่ใช่สำหรับอธิบายการทดลองของเรา นอกจากนี้ ยังได้ส่งอีเมลไปปรึกษาอาจารย์สอนฟิสิกส์ที่โรงเรียนด้วย ซึ่งอาจารย์ได้ให้คำแนะนำว่าควรสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมอย่างไร

   ในช่วงการนำเสนอจริงตื่นเต้นมาก พอนำเสนอเสร็จกรรมการมีคำแนะนำ และมีคำถามเรื่องการนำผลการทดลองไปประยุกต์ใช้ ซึ่งรู้สึกดีใจที่กรรมการให้ความสนใจ โดยทางแจ็กซาประกาศผลว่าได้รางวัล Kibo-ABC Award ต้องขอบคุณทั้ง สวทช. และแจ็กซา ที่สนับสนุนให้มีโอกาสมาร่วมกิจกรรม Asian Try Zero-G โครงการดี ๆ ที่ช่วยเปิดประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีอวกาศซึ่งไกลตัวมาก อีกทั้งยังได้พบองค์ความรู้ใหม่ ๆ ได้เรียนรู้เทคนิคการนำเสนอผลงานของเพื่อน ๆ กลุ่มอื่น ที่สำคัญคือเพื่อนจากประเทศต่าง ๆ มีความสนใจและกระตือรือร้นต่อเรื่องอวกาศมาก เป็นแรงบันดาลใจและผลักดันให้ได้พัฒนาตัวเองและเรียนรู้เพื่อตอบข้อสงสัยต่อไปในอนาคต