ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ภายใต้การดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ณ ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม วว. นำนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตและคุณภาพลิ้นจี่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรในพื้นที่ ผ่านการดำเนินงาน “การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชส่งเสริมการผลิตลิ้นจี่พันธุ์ค่อม” จำนวน 7 พื้นที่ จำนวนกว่า 200 ต้น ตัวอย่างเช่น แปลงสาธิตที่ 1 ณ สวนนายบุญมา นวมสุคนธ์ และแปลงสาธิตที่ 2 ณ สวนลิ้นจี่ 200 ปี เป็นต้น ทำให้มีผลผลิตที่ดี สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น ด้วยนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ จุดเด่นคือสามารถทำให้ออกดอกได้เร็วกว่าลิ้นจี่ที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมของต้น ทำให้ราคาจำหน่ายลิ้นจี่สูงกว่าเพราะออกก่อน และให้ปริมาณผลผลิตมากกว่าเพราะเตรียมต้นได้สมบูรณ์ ลดการหลุดร่วงเพราะออกผลผลิตก่อนช่วยเลี่ยงฝนหลงฤดูที่เป็นสาเหตุทำให้ดอกและผลร่วง นอกจากนี้การให้ฮอร์โมนแปลงเพศจะทำให้ติดผลมากกว่า และการให้ฮอร์โมนขยายขนาดผลจะทำให้ผลโต เกรดและคุณภาพดี จำหน่ายได้ราคาสูงกว่า วว. พร้อมขยายผลการดำเนินงานในรูปแบบโมเดลนี้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร สร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจด้วยเกษตรกรรมที่มีประสิทธิภาพ
ในโอกาสเดียวกันนี้ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. พร้อมผู้แทนสภาพัฒน์และคณะนักวิจัย ได้มอบนวัตกรรมการยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่ “ชุดรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลิ้นจี่แบบเคลื่อนที่” ให้แก่นายบุญมา นวมสุคนธ์ ในฐานะผู้แทนกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อนำไปใช้กับผลผลิตลิ้นจี่พันธุ์ค่อมต่อไป โดย ศนก.วว. ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมนี้ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่ ได้นาน 3 สัปดาห์ เนื่องจากแก๊สกำมะถัน (สารซัลเฟอร์) สามารถกำจัดโรคพืชที่ติดมากับผล มีกำลังผลิต 200 กิโลกรัม/ครั้ง ใช้เวลาการรมประมาณ 2 ชั่วโมง ประกอบด้วยตู้ทนกรดขนาด 120x120 เซนติเมตร สำหรับใช้บรรจุลิ้นจี่ และต่อท่อเข้ากับชุดเผากำมะถัน ซึ่งจะใช้กำมะถัน 300 กรัมต่อลิ้นจี่ 200 กิโลกรัม หลังจากการรม 2 ชั่วโมง
แล้วดูดแก๊สกำมะถันออกไปบำบัด ในส่วนของระบบจะบำบัดด้วยด่างต่อไป
ด้าน ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ หรือ ศนก.วว. กล่าวว่า วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยการทำแปลงสาธิตการผลิตลิ้นจี่ในแปลงเกษตรกรจำนวน 7 แปลง ซึ่งปลูกต้นลิ้นจี่ที่มีอายุ 50 - 100 ปี จำนวน 200 ต้น ทำการเตรียมต้นลิ้นจี่โดยการฉีดฮอร์โมนและสารบำรุงก่อนเข้าฤดูหนาวจำนวน 2 เดือน เพื่อให้ลิ้นจี่ออกใบอ่อนพร้อมกันและได้รับสารบำรุงทางใบจนมีความสมบูรณ์และมีใบแก่รอฤดูหนาว โดยมีขั้นตอนกระบวนการผลิต คือ เมื่อลิ้นจี่เจอฤดูหนาวแล้วมีดอก ให้เกษตรกรฉีดพ่นฮอร์โมนเพิ่มดอกเพศผู้เพื่อเพิ่มการติดผล และเมื่อลิ้นจี่ติดผล ให้เกษตรกรฉีดสารขยายขนาดผลและสารบำรุงเพิ่มขนาดของผลและลดการหลุดร่วงของผลลิ้นจี่ จากการปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าว ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ คือการออกดอกของต้นให้สารจะหนาแน่นกว่าประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ และต้นไม่ให้สารจำนวน 50 ต้น ไม่ออกดอกและผล 6 ต้น ส่วนในต้นให้สาร 150 ต้น ไม่ออกดอกและผล 1 ต้น แต่ในปีไม่หนาวต้นให้สารและไม่ให้สารจะออกดอกและผลแตกต่างมากกว่าปีที่มีอากาศหนาวยาวนานแบบปีนี้
ขณะที่ นายบุญมา นวมสุคนธ์ เกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ที่ผ่านมาประสบปัญหาการควบคุมการออกดอกของลิ้นจี่ ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่สม่ำเสมอทุกปี และมีผลผลิตต่ำ จากกการที่ วว. ได้นำนักวิจัยและความรู้มาอบรมและให้คำแนะนำต่างๆ ทำให้ขณะนี้ลิ้นจี่ติดผลมากและมีลูกดก กิ่งก้านแข็งแรงมาก ผลผลิตออกเยอะกว่าสวนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ดีใจและภูมิใจที่ได้รับคำแนะนำจากนักวิจัยที่ลงพื้นที่มาทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด หากเกษตรกรท่านอื่นๆ สนใจขอให้ติดต่อสอบถามรายละเอียดและรับบริการจาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. โทรศัพท์หมายเลข 0 2577 9004 โทรสาร 0 2577 9004 E-mail : tistr@tistr.or.th