31-05-2566

กระทรวง อว. เปิดประชาพิจารณ์ตั้ง “มหาศิลปาลัย” ดึง “วิทยาลัยเพาะช่าง” เป็นแกน เผยเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปะ สุนทรียะ อารยะ เพื่อต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์

   ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. พร้อมด้วย ศาสตราจารย์(กิตติคุณ) บวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานคณะกรรมการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปะ สุนทรียะ อารยะ เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมคณะกรรมการฯ และผู้ทรงคุณวุฒิกว่า 200 คน เข้าร่วมการประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นหลักการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปะ สุนทรียะ อารยะเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ มหาศิลปาลัย และร่าง พ.ร.บ. มหาศิลปาลัย พ.ศ. ....

   ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การจัดตั้งมหาศิลปาลัย เป็นไปตามมติของ สภานโยบาย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการจัดตั้งสถาบันผลิตกำลังคนด้านศิลปะ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ โดยใช้วิทยาลัยเพาะช่าง เป็นแกนหลัก ผนวกเข้ากับหลักสูตรและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นไปต่อยอดและสร้างคุณค่าให้กับศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงนำเอกลักษณ์ความเป็นไทยไปส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศให้เป็นที่รู้จักในนานาประเทศ ซึ่งการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่เน้นการเรียนการสอนเฉพาะทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม ที่มีการจัดการเรียนการสอนและการบริหารงานในรูปแบบเฉพาะนี้ จะช่วยให้เกิดการพัฒนาและสร้างสรรค์งานศิลปะใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์และสร้างมูลค่าได้

   ด้าน ศาสตราจารย์(กิตติคุณ)บวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานคณะกรรมการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปะ สุนทรียะ อารยะ เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า มหาศิลปาลัย เกิดจากการนำคำ 3 คำ มาสมาสสนธิกัน ได้แก่ มหา
ที่แปลว่า ยิ่งใหญ่ ศิลปะ ที่แปลว่า ฝีมือ, ฝีมือการช่าง, การทำวิจิตรพิสดาร และอาลัย ที่แปลว่า ที่อยู่หรือที่ตั้ง รวมกันเป็น “ที่ตั้งของศิลปะ” บ่งบอกลักษณะของมหาศิลปาลัยที่ต่างไปจากมหาวิทยาลัยในรูปแบบเดิม ซึ่งแปลว่า ที่อยู่ของวิทยาการ โดยมหาศิลปาลัยจะมุ่งสร้างมูลค่าและคุณค่าให้ศิลปะและวัฒนธรรมไทย นำเอาความเฉพาะทางของศิลปะ สุนทรียะทั้งหลายให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยมุ่งเน้นสร้างคนที่จะสามารถนำศิลปะและสุนทรียะไปต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์
โดยมีกระบวนการรับนักศึกษา โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการอย่างการสอบ TCAS แต่สามารถเอาผลงานมาเสนอขอรับการคัดเลือก ส่วนหลักสูตรก็จะเน้นปฏิบัติ การลงมือทำจริง การขอตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ก็จะพิจารณาจากผลงานด้านศิลปะและสุนทรียะเป็นหลัก ที่สำคัญ มหาศิลปาลัยจะไม่ใช่แค่สอนอย่างเดียว แต่ต้องสร้างคุณค่าอื่นให้กับสังคมและประเทศอีกด้วย มหาศิลปาลัย จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปะ สุนทรียะ อารยะ เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ การตั้งมหาวิทยาลัยประเภทใหม่ขึ้นมาต้องมีลักษณะที่โดดเด่น เฉพาะทางและเหมาะสำหรับศิลปะ โดยต้องใช้เกณฑ์ ใช้มาตรฐาน ที่จะทำให้คนที่เก่งที่สุดด้านศิลปะได้เข้ามาสอน และเอาคนที่มีศักยภาพสูงที่สุดด้านศิลปะเข้ามาเรียน โดยเกณฑ์ในการพิจารณาในการรับคน ในการแต่งตั้ง ต้องใช้เกณฑ์ใหม่ อาจจะไม่เอาพื้นฐานการศึกษามาวัด เช่น ศิลปินแห่งชาติบางคนไม่จบปริญญาตรีแต่ผลงานล้ำค่ามาก อาจจะเข้ามาสอนและให้เงินเดือนสูงเทียบเท่ากับศาสตราจารย์ หรือ ดร.ที่มีตำแหน่งทางวิชาการ เพราะศิลปินหลายคนอาจไม่ได้เรียนสูง แต่ผลงานยิ่งใหญ่มาก