01-06-2566

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และ สำนักงานคณะกรรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมนำเสนอแผน แก้วิกฤตมลพิษฝุ่น PM 2.5

   นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นำส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม การขับเคลื่อนการเสริมสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 กับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. และ สำนักงานคณะกรรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. โดยมี นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม นางอารียพันธ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทน อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เข้าร่วมการประชุม โอกาสนี้ นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสถานการณ์ปัญหาหมอกควันในประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ที่ถูกจัดอันดับอยู่ในระดับโลก ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน ของทุกปี อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเผาพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งมีเศษวัชพืช และเศษวัสดุการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง การเผาเพื่อหาของป่าในพื้นที่ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่มีเศษกิ่งไม้และใบไม้ร่วงสะสมเป็นเชื้อเพลิง ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะและมีภูเขาล้อมรอบ จึงทำให้ความรุนแรงของปัญหาเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับจำนวนของหมอกควันที่ข้ามแดนมาจากประเทศตอนบนของภาคเหนือในประเทศไทย ส่งผลให้สถานการณ์ ‘ฝุ่นและพิษควันภาคเหนือ’ เป็นหนึ่งในปัญหาร้ายแรง

   ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม หรือ ก.พ.ร กล่าวว่า สำนักงาน ก.พ.ร. และภาคีเครือข่ายความร่วมมือ ได้แก่ สกสว. กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้แทนภาคประชาสังคม ได้ร่วมประชุมสรุปแผนการขยายผลการพัฒนาระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดเชียงใหม่ โดยที่ประชุมได้นำเสนอการกำหนดพื้นที่ในการทำงานนำร่อง 2 พื้นที่ ก่อนขยายผลต่อ คือ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และ อำเภอแม่แจ่ม ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทีมีสาเหตุของการเกิดไฟป่าแตกต่างกัน โดยคณะทำงานจะนำแนวทางห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ หรือ Gov Lab (Government Innovation Lab) มาประยุกต์ใช้ในการจัดการปัญหา ซึ่งเป็นการนำแนวคิดเชิงออกแบบ ที่เน้นผู้ใช้บริการเป็นสำคัญมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษฝุ่น PM 2.5 พร้อมทั้งอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อคิดค้นและสร้างนวัตกรรมงานบริการภาครัฐให้แก่ประชาชนผ่านกระบวนการทดสอบ ทดลอง ในห้องปฏิบัติการออกแบบ อันจะก่อให้เกิดนวัตกรรมด้านการวางนโยบายสาธารณะ และการส่งมอบบริการให้แก่ประชาชน ใน 8 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ระบบฐานข้อมูล และ เครือข่าย ที่เปิดให้มีการใช้ข้อมูลร่วมกัน ในการตัดสินใจ และวางแผนในการจัดการ 2. ระบบบริหารจัดการไฟ เพื่อศึกษาสาเหตุการเผา การกำหนดกติกาเรื่องการใช้ประโยชน์จากป่า การส่งเสริมการจัดการร่วม 3. ไฟพื้นที่เกษตร เพื่อวางระบบในการติดตาม ตรวจสอบย้อนกลับ และ การสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างเป็นระบบ 4. พื้นที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดิน เพื่อกำหนดเงื่อนไขการได้สิทธิ์การใช้ประโยชน์ 5.ระบบติดตามความก้าวหน้า ผลปฏิบัติการตามแผน เช่น ดาวเทียม Low Cost Sensor 6. ตัวชี้วัด ทั้งในระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ 7. กลไกการบริหารจัดการที่ยั่งยืน ภายใต้คณะทำงานเพื่อดำเนินการ และ 8.ชุดความรู้และงานวิจัยที่เกี่ยวกับการจัดการไฟ ไร่หมุนเวียน

   ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สกสว. กล่าวว่า สกสว. มีพันธกิจ ในการจัดทำนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และกรอบงบประมาณด้าน ววน. ของประเทศ รวมถึงบริหารระบบงบประมาณด้าน ววน. ผ่านการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ให้กับหน่วยงานในระบบ ววน. ในทุกมิติ พร้อมที่จะนำข้อเสนอแนะถึงแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษฝุ่น PM 2.5 กลับไปทบทวน แผนงานย่อยรายประเด็น “งานวิจัยและการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเร่งด่วนฝุ่นละออง PM 2.5” ภายใต้แผนงาน P24 "แก้ไขปัญหาและตอบสนองภาวะวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ" ปีงบประมาณ 2566
เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป