02-06-2566

วว. ขับเคลื่อนงานวิจัย บริการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในงาน ProPak Asia 2023 ร่วมผลักดันให้ไทยเป็น Hub แห่งนวัตกรรมกระบวนการผลิต

   ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แถลงถึงการเตรียมจัดงาน ProPak Asia 2023 (โปรแพค เอเชีย 2023) งานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิตการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์แห่งภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 30 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14–17 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค โดยอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย และหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ/เอกชน เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมอาหารทั้ง Eco System ของประเทศไทย

   ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ กล่าว่า การจัดงานในปีนี้เป็นการฉลองครบรอบปีที่ 30 ถือเป็นงานแสดงสินค้าและนวัตกรรมในกระบวนการผลิต แปรรูป และบรรจุภัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของภูมิภาคเอเชีย วว.ขอร่วมแสดงความยินดีกับการจัดงาน Exhibition
ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทุกท่านที่มาร่วมงานจะได้เห็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยี รวมถึง Ecosystem ของการผลิตและแปรรูปอาหารทั้งกระบวนการ นับตั้งแต่กระบวนการผลิต ไปจนถึงการบรรจุภัณฑ์ เพื่อผลักดันให้กลุ่ม M-SMEs สามารถแข่งขันและก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดโลกได้ รวมทั้งผลักดันให้ไทยกลายเป็น Hub แห่งนวัตกรรมใหม่ในกระบวนการผลิต

   สำหรับผลงานของ วว. ที่จะร่วมนำเสนอในปีนี้ ประกอบด้วย ผลงานวิจัย งานบริการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด : TISTR Total Solutions วว. เสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างครบวงจร ก้าวเดินในอุตสาหกรรมได้อย่างเข้มแข็งมีมาตรฐานสากล แข่งขันได้ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ โดยการโชว์ผลงานวิจัยและบริการอย่างครบวงจร ในด้านเกษตร อาหาร สุขภาพและการแพทย์ บรรจุภัณฑ์ และการวิจัยพัฒนาเพื่อนำวัสดุแปรกลับมาใช้ใหม่ อาทิ ด้านการเกษตร การพัฒนาปุ๋ยและชีวภัณฑ์ การปรับปรุงพันธุ์ การเพิ่มผลผลิต การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ เช่น ถาดเพาะชำจากวัสดุแหลือใช้ทางการเกษตร กระถางจากขุยมะพร้าว บรรจุภัณฑ์ขนส่งผลผลิตทางการเกษตร เช่น บรรจุภัณฑ์ต้นไม้ การยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยว ด้านอาหาร การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร การถนอมอาหาร บรรจุภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร จานชามจากใบไม้ บรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย การยืดอายุผลิตภัณฑ์ การผลิตและการบรรจุ การประเมินอายุการเก็บ และการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์

   ด้านสุขภาพและการแพทย์ การพัฒนาสมุนไพรในรูปแบบ ยา ลูกประคบ ไพลเจล ฉลากลูกประคบ ฉลากไพลเจล การพัฒนาเครื่องสำอางในรูปครีม เซรั่ม มาส์ก การยืดอายุผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์เครื่องสำอาง และงานบริการทดสอบด้านการแพทย์และสุขภาพ การสอบเทียบเครื่องมือวัดทางการแพทย์ การออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ นอกจากนี้ วว. ยังจะนำเสนอการบริการทดสอบบรรจุภัณฑ์ เช่น วัสดุ บรรจุภัณฑ์ กระดาษ พลาสติก โลหะ บรรจุภัณฑ์ขนส่ง บรรจุภัณฑ์ขายปลีก บรรจุภัณฑ์สินค้าอันตราย ตลอดจนการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เช่น ออกแบบฉลาก และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำวัสดุแปรกลับมาใช้ใหม่ เช่น การจัดการขยะและการแปรกลับมาใช้ใหม่ของขยะจากบรรจุภัณฑ์พลาสติก การทดสอบพลาสติก การทดสอบวัสดุสัมผัสอาหาร

   รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. กล่าวต่อไปว่า นอกจากการนำเสนอผลงานวิจัยและบริการแล้ว วว. ยังร่วมจัดสัมมนาวิชาการ จำนวน 3 เรื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการในการส่งออก ลดการปลดปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตตามเป้าหมาย zero emission ด้วยภาพรวม หลักเกณฑ์ ข้อกำหนด พร้อมตัวอย่างแนวทางการปรับตัวในอุตสาหกรรมอาหาร บรรจุภัณฑ์และภาคขนส่ง โดยการสัมมนาฯ เป็นส่วนหนึ่งในการจัดการประชุมของสมาชิก APF ที่มาจาก 15 ประเทศในเอเชีย ระหว่างวันที่ 13-16 มิถุนายน 2566 ณ ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ และเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ร่วมเฉลิมฉลองครบรอบการสถาปนา 60 ปี วว. ด้วย