08-09-2566

วิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ เปิดโฉม สาขายานยนต์ไฟฟ้า พร้อมผลงานชิ้นเอก "รถยนต์ไฟฟ้าสำหรับคนพิการ Kotaka EV"

   ดร.ปริวิชญ์  ไชยประเสริฐ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ เปิดเผยว่า ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 3 ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก จึงได้มีมติคณะรัฐมนตรี ส่งเสริมให้เกิดการผลิตและสนับสนุนให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยสนับสนุนการผลิต หรือมาตรการด้านภาษี เพื่อสร้างแรงจูงใจ ส่งผลให้ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจัดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ EEC ต้องการ ให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่ โดยอาศัยการต่อยอดจากจุดแข็งเดิมที่มีอยู่ ที่ผ่านมาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของการลงทุน ด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เห็นได้จากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ได้เลือกพื้นที่ EEC เป็นที่ตั้งโรงงานผลิตเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เตรียมรูปแบบและสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ที่พร้อมที่สุดสำหรับรองรับการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ ศูนย์ทดสอบยาง และล้อแห่งชาติ ซึ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยส่วนดังกล่าวเป็นการยกระดับมาตรฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนของไทย เพื่อทำให้พื้นที่ EEC ก้าวสู่การเป็น super cluster ของการผลิต ที่จะส่งผลให้เกิดความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจำนวนมาก

 

     ดร.ปริวิชญ์ กล่าวต่อไปว่า ด้วยเหตุนี้ วิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ ซึ่งเป็นสถานศึกษา ที่ได้รับการยอมรับจากชุมชน ในเรื่องการพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ มีมาตรฐาน จึงได้เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชายานยนต์ ไฟฟ้า และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เทคนิคยานยนต์ไฟฟ้า ในปีการศึกษา 2566 รวมทั้งการจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น 75 ชั่วโมง เพื่อผลิตและพัฒนาทักษะกำลังคนอาชีวศึกษาให้ก้าวทันเทคโนโลยี รองรับและตอบโจทย์การเป็นกำลังคนคุณภาพสูงในตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจากการเปิดการเรียนการสอน ส่งผลให้นักเรียน นักศึกษา นำเอาความรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้าไปต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ประดิษฐ์นวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์สังคม เป็นนวัตกรรมต้นแบบและใช้งานได้จริง ทั้งในภาคอุตสาหกรรมภาคการเกษตรชุมชนโดยเฉพาะผู้ที่ต้องการเป็น Smart Farmer และได้เข้าร่วมการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ทั้งเวทีในประเทศและต่างประเทศ จนได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย

     ด้านนายอาทิตย์ แก้วแดง ครูหัวหน้าแผนกวิชายานยนต์ไฟฟ้า กล่าวเสริมว่า  การเปิดสอนสาขาวิชายานยนต์ไฟฟ้า มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตผู้เรียนที่มีความรู้ความสามารถและมีสมรรถนะในการปฏิบัติงานด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพ ควบคู่กับการเป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อองค์กรและสังคมโดยมีผลงานนวัตกรรมชื่อ "รถยนต์ไฟฟ้าสำหรับคนพิการ Kotaka EV"  สำหรับแนวคิดในการสร้างผลงานนี้ เป็นการสร้างความเท่าเทียมในการเดินทางของผู้พิการ โดยผู้พิการสามารถช่วยเหลือตนเองโดยใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ที่ใช้พลังงานลดภาวะโลกร้อน และเป็นจุดสตาร์ทอัพให้กับผู้ที่สนใจ ซึ่งผลงานนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาค ภาคเหนือและภาคตะวันตก ในเวทีค้นหาสุดยอดนวัตกรพลังบวกกับโครงการ 'Ford + Innovator Scholarship 2022' และรางวัลติดดาว (3 ดาว) จากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) รางวัลกิจกรรมการบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา Smart invention & innovation ประจำปี 2566 และรางวัล Honor award จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับภาคเหนือของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมทั้งได้ออกเผยแพร่ในรายการข่าวทั้งทางสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจสอบถาม และต้องการสมัครเพื่อเข้ามาเรียนรู้เป็นจำนวนมาก