25-09-2566

สกสว. ร่วมมือ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่และตำบล" เชื่อมโยงทุกมิติรอบด้าน หนุนเสริมเชิงพื้นที่ มุ่งสู่เป้าหมาย 13 หมุดหมาย 7,255 ตำบลต้นแบบ ขยายผลการจัดทำพื้นที่นำ

   รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่และตำบล"
พร้อมเสวนาแลกเปลี่ยนในประเด็น “เครื่องมือและกลไกเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนพัฒนาพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในระดับพื้นที่และตำบล” ที่จัดโดย สำนักงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม จำนวนกว่า 350 คน เข้าร่วม รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึงบทบาทกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) กับการพัฒนาเชิงพื้นที่บนฐานขององค์ความรู้ โดยระบุว่า สกสว. มีบทบาทในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ.2566-2570 ที่มุ่งพลิกโฉมประเทศให้เป็นประเทศพัฒนา และพร้อมสำหรับโลกอนาคต โดยมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน
ยกระดับคุณภาพชีวิตเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจมูลค่าและคุณค่า ด้วยการสานพลังของหน่วยงานในระบบ ววน. รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคม ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์หลัก โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ที่ 2 ที่กองทุนส่งเสริม ววน. มีการจัดสรรงบประมาณการวิจัยและนวัตกรรม ประมาณ 30% กระจายใน 50 จังหวัด มุ่งพัฒนาเชิงพื้นที่ในด้านต่าง ๆ อาทิ พัฒนาสังคมสูงวัย ยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพ ขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน การพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ สร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง แก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้ทัน เป็นต้น นอกจากนี้ มีการจัดสรรงบประมาณด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization : RU) เพื่อสร้างผลกระทบสูง ที่จะมีช่วยบูรณาการผลงานวิจัยให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด ใช้ ววน.บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภารกิจในทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงระดับท้องถิ่น เอกชน ประชาสังคม
ให้เกิดการนำผลงาน ววน. ไปใช้ประโยชน์ การใช้ข้อมูลหรือความรู้ถือเป็นเรื่องสำคัญเพื่อกำหนดเป้าหมายร่วมกันและเป็นเครื่องมือในการบูรณาการการ ทำงานทุกภาคส่วน การใช้กลไกระบบ ววน.ในทุกระดับช่วยขับเคลื่อนตั้งแต่ในระดับชุมชนท้องถิ่น จังหวัด ภาค ไปสู่ประเทศ จะช่วยพัฒนาศักยภาพชุมชนพื้นที่ เพิ่มรายได้และการสะสมทุนในพื้นที่ ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่ม สิ่งแวดล้อมดี คนมีความรู้ความสามารถในการปรับตัวและพัฒนาตนเอง และชุมชนท้องถิ่นร่วมมือกันเพื่อ ก้าวไปสู่เป้าหมายประเทศไทยพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

   ด้าน นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยถึงแนวทางและกลไกในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ในระดับพื้นที่ โดยระบุว่า สภาพัฒน์ฯ มีหน้าที่ในการเชื่อมแผนทั้ง 3 ระดับพัฒนาไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะ “เชิงพื้นที่” ที่ต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน ซึ่งขับเคลื่อนผ่าน 3 กลไก ประกอบด้วย 1.กลไกเชิงยุทธศาสตร์ 2.กลไกเชิงภารกิจ และ 3.กลไกเชิงพื้นที่ โดยมีภาคีเครือข่ายร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนา คือ
ภาคีชุมชน ภาคีภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคีท้องถิ่น ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ สู่เป้าหมายการแปลง 13 หมุดหมายของแผนฯ 13 ไปสู่การปฏิบัติ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยินดีรับบท “ช่างเชื่อม” เพื่อหนุนเสริมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในระดับพื้นที่ โดย 1. เชื่อมโยงข้อมูลองค์ความรู้ เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพและออกแบบโมเดลการขับเคลื่อน 2. เชื่อมโยงภาคีการพัฒนา ที่หลากหลายให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ตำบล 3. เชื่อมโยงการทำงานในพื้นที่สู่นโยบายและยุทธศาสตร์ระดับประเทศ และ 4. เชื่อมโยงตำบลนำร่องต้นแบบ ผ่านการพัฒนาระบบแสดงผลการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ระดับพื้นที่และตำบล เพื่อมุ่งบูรณาการการทำงานในระดับพื้นที่ พร้อมทั้งขยายผลและเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายให้เข้มแข็ง พร้อมเป็นพลังสำคัญในการร่วมพัฒนาประเทศต่อไป