07-06-2559

วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม "ความเค็ม ภัยร้ายในอาหาร"

ปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมการบริโภครสเค็ม สูงขึ้น 2 ถึง 3 เท่า ของปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มนั้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ และโรคอัมพาตค่ะ จริงๆแล้วคนเราควรบริโภคเกลือไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน นั่นก็เท่ากับโซเดียม 2,400 มิลลิกรัม แต่จากการสำรวจพบว่า คนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ย 10.8 กรัมต่อวัน หรือเป็นบริมาณโซเดียมถึง 5,000 มิลลิกรัม ซึ่งสูงเป็น 2 เท่า ของที่ร่างกายควรได้รับ โดยร้อยละ 71 มาจากการเติมเครื่องปรุงรสระหว่างการประกอบอาหาร ซึ่งโดยปกติอาหารตามธรรมชาติก็มีเกลือเป็นส่วนประกอบอยู่แล้วนะคะ เมื่อมีการใช้เครื่องปรุงรสดังกล่าวในปริมาณมาก จึงทำให้ปริมาณเกลือในอาหารสูงมากตามไปด้วย วันนี้สารคดีสั้นป้องกันสาธารณภัยมีวิธีง่ายๆในการลดปริมาณโซเดียมมาฝากกันค่ะ เราควรหลีกเลี่ยงการเติมเครื่องปรุง ไม่ว่าจะในก๋วยเตี๋ยวหรือเติมพริกน้ำปลาในข้าวแกง เลือกรับประทานอาหารที่มีหลายรสชาติเช่น แกงส้ม ต้มยำ เพื่อทดแทนรสชาติเค็ม หลีกเลี่ยงอาหารประเภทดองเค็ม อาหารแปรรูป ตรวจดูปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคบนฉลากของซอสปรุงรส อาหารสำเร็จรูป และขนมถุงเพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง คุณผู้ฟังคะ อาหารรสชาติเค็มเป็นภัยเงียบที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพอย่างคาดไม่ถึง ความเคยชินในการรับประทานอาหารรสเค็มของคนไทยปรับเปลี่ยนได้ยากแต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ หากค่อยๆ ลดความเค็มทีละน้อย จะทำให้เกิดความเคยชินแล้วลิ้นของเราก็จะไม่โหยหารสเค็มอีกต่อไปค่ะ