23-09-2559

ภาษาไทยใช้ให้ถูก เขตพุทธาวาส

ภาษาไทยใช้ให้ถูก  เขตพุทธาวาส
        ในฐานะที่เป็นชาวพุทธ ชาวพุทธก็คือผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ จึงอยากให้ท่านผู้อ่านที่เป็นชาวพุทธได้รู้จักกับสิ่งก่อสร้างในวัดซึ่งแบ่งออกได้เป็นสองเขต คือ เขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาส เพื่อเวลาที่ท่านเข้าวัดจะได้ทราบว่าสิ่งนี้คืออะไร 
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ เขตพุทธาวาส กันก่อน  เขตพุทธาวาส คือ บริเวณที่ใช้สำหรับประกอบสังฆกรรม และเป็นที่ตั้งสิ่งปลูกสร้างประเภทปูชนียสถานและศาสนสถาน คำว่า พุทธาวาส มาจากคำว่า พุทธะ สมาสกับ อาวาส เป็น พุทธาวาส ภายในเขตพุทธาวาส จะประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างประเภทศาสนสถาน ได้แก่ วิหาร  มณฑป  อุโบสถ หอพระธรรม หรือ หอไตร  ระเบียง  กำแพงแก้ว  และ ศาลาราย 
วิหาร คืออาคารที่ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป  แต่เดิม คำว่า วิหาร หมายถึงที่อยู่ โดยไม่จำกัดบุคคลชั้นใด  ต่อมาในสมัยพุทธกาลหมายถึง ที่อยู่สำหรับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวก ครั้น พระพุทธเจ้าดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว วิหารได้รับการสร้างขึ้นสำหรับเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธปฏิมากร หรือ รูปแทนองค์พระพุทธเจ้า ปัจจุบันนี้ วิหาร คือสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูป

 วิหาร      โบสถ์

จากวิหาร มาถึง มณฑป  มณฑป คือ อาคารที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นอย่างเรือนรูปสี่เหลี่ยม มักทำหลังคาเป็นรูปทรงกรวยสี่เหลี่ยม ปลายเรียวแหลม ใช้เป็นสถานที่สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป รอยพระพุทธบาท หรือ พระไตรปิฎก            
    คราวนี้มาถึง อุโบสถ หรือ โบสถ์ กันบ้าง อุโบสถ เป็นอาคารสำหรับพระสงฆ์ใช้ประโยชน์ในการทำ อุโบสถกรรม เป็นประจำทุกๆกึ่งเดือน สถานที่ประเภทนี้จึงได้รับการขนานนามตามกิจของพระสงฆ์ดังกล่าวว่า อุโบสถ การทำอุโบสถกรรม (อุโบสดถะกำ) คือการที่พระสงฆ์มาประชุมร่วมกันเพื่อสวดปาติโมกข์ 
        จากอุโบสถ หรือ โบสถ์ สิ่งปลูกสร้างชนิดต่อไป คือ หอพระธรรมหรือ หอไตร เป็นอาคารสำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎก ซึ่งพระสงฆ์ใช้สำหรับศึกษาและเผยแพร่แก่บรรดาพุทธศาสนิกชน  วัดส่วนมากจะมีหอไตรเพียงหลังเดียว แต่วัดใหญ่ๆ โดยเฉพาะวัดที่เป็นพระอารามหลวงจะมีหอพระธรรมหรือหอไตรมากกว่า 1 หลัง
        ลำดับถัดมาคือ ระเบียง เป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะอย่างโรงยาวๆ ด้านหน้าเปิดโล่ง ด้านหลังกั้นฝาทึบ มีหลังคาคลุมตลอดระเบียง มักทำขึ้นล้อมพระสถูปเจดีย์ มหาธาตุเจดีย์ อุโบสถ และวิหาร อย่างใดอย่างหนึ่ง

 ศาลาราย    กำแพงแก้ว        


        กำแพงแก้ว คือ สิ่งก่อสร้างสำหรับกั้นเขตแดนออกเป็นสัดส่วน มีลักษณะเป็นกำแพงขนาดเตี้ยๆ ที่ทำขึ้นสำหรับล้อมเขตที่ตั้งอุโบสถ วิหาร สถูปเจดีย์ หรือ มหาธาตุเจดีย์
        สิ่งปลูกสร้างอีกอย่างหนึ่งในเขตพุทธาวาส คือ ศาลาราย ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างลักษณะอย่างโรงรูปทรงสี่เหลี่ยม โดยมากยกพื้นเตี้ยๆ มีหลังคาทรงจั่ว และมักทำเป็นศาลาโถงไม่นิยมกั้นฝา ปลูกเรียงรายไปโดยรอบอุโบสถ หรือวิหาร สำหรับพุทธศาสนิกชนใช้เป็นที่เตรียมการบำเพ็ญกุศล หรือ นั่งพักผ่อนขณะมาปฏิบัติธรรมในวัด เช่น ศาลารายวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (เชดตุพน)

คราวนี้มารู้จักกับสิ่งปลูกสร้างในเขตพุทธาวาสที่เป็นปูชนียสถานกันบ้าง
        แต่ก่อนที่จะไปรู้จักกับ ปูชนียสถาน มารู้จักคำนี้กันก่อน  ปูชนียสถาน  มาจากคำสามคำสนธิกันคือ  ปูชา  อนีย  และ สถาน  ปูชนียสถาน แปลว่า สถานที่ควรบูชา ในเขตพุทธาวาสมีปูชนียสถานสองประเภทที่นิยมสร้างคือ พระสถูปเจดีย์ และ พระมหาธาตุเจดีย์    พระสถูปเจดีย์ เป็นสิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนาที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิ หรือ เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป หรือเพื่อเป็นที่ระลึก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในสมัยหลังลงมาคงมีการสร้างสถานที่เพื่อบรรจุอัฐิธาตุ และเพื่อเคารพบูชาระลึกถึงพร้อมกันไปด้วย ตัวอย่างเช่น พระสถูปเจดีย์วัดบวรนิเวศวิหาร พระสถูปเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นต้น
    ส่วนคำว่า มหาธาตุเจดีย์  เรามักรู้จักกันในนามว่า พระปรางค์   ส่วนคำว่า มหาธาตุ เป็นคำที่มีมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย หมายถึง พระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า และคำว่า พระมหาธาตุเจดีย์ หมายถึง พระเจดีย์ที่ประดิษฐานพระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า เช่น พระปรางค์วัดราชบูรณะ พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ฯลฯ