02-02-2560

ภาษาไทยใช้ให้ถูก สำนวนเรือ, ลงขัน

ภาษาไทยใช้ให้ถูก  สำนวนเรือ

สำนวนไทยที่เกี่ยวกับเรือที่ท่านผู้อ่านรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เช่น เรือขาดหางเสือ เรือล่มในหนองทองจะไปไหน เรือใหญ่คับคลอง และ เรือล่มเมื่อจอด เหตุที่สำนวนเกี่ยวกับเรือมีหลายสำนวนเป็นเพราะในสมัยก่อนการสัญจรไปมาหาสู่กัน การค้าขายต้องอาศัยเรือล่องไปตามลำน้ำ เนื่องจากสมัยก่อนโน้นถนนหนทางยังไม่ค่อยมี ถึงมีก็ไม่ค่อยสะดวก และ พาหนะที่ใช้กันทางบก ก็ไม่ใช่รถยนต์อย่างในปัจจุบันนี้ อีกประการหนึ่งสำนวนไทยส่วนใหญ่ก็เป็นสำนวนที่เกิดมีมาแต่โบราณแล้วนั่นเอง

เรือขาดหางเสือ มีความหมายว่า คนที่ขาดสติสัมปชัญญะ ครอบครัวที่ขาดผู้ดูแลรับผิดชอบ หรือ การงานที่ขาดหัวหน้า

เรือล่มในหนอง ทองจะไปไหน หมายถึง คนในเครือญาติแต่งงานกัน ทำให้ทรัพย์มรดกไม่ตกไปอยู่กับผู้อื่น

เรือล่มเมื่อจอด หมายถึง ทำหรือปฏิบัติอะไร ๆ ผ่านพ้นมาเรียบร้อยแล้ว พอจะสำเร็จหรือพอเสร็จกลับเสียเรื่องไปได้ หรือ คนที่ทำดีมาโดยตลอดแต่มาเสียผู้เสียคนเมื่อแก่ เปรียบเหมือนแจว หรือพายเรือมาจนถึงที่หมายพอจอดเทียบท่าเรือก็ล่ม  สำนวนนี้ใช้กับการพูดก็ได้ คือ พูดดีเรื่อยมา พอจะจบก็ลงไม่ได้

เรือล่มเมื่อจอด มักจะใช้เข้าคู่กันกับ ตาบอดเมื่อแก่ เป็น เรือล่มเมื่อจอด ตาบอดเมื่อแก่

และสำนวนสุดท้าย เรือใหญ่คับคลอง หมายถึง คนที่เคยรุ่งเรืองหรือเป็นใหญ่เป็นโต เมื่อตกต่ำลงก็วางตัวอย่างคนสามัญไม่ได้

ภาษาไทยใช้ให้ถูก  ลงขัน

ลงขัน เป็นประเพณีให้ของขวัญแบบโบราณ เช่น ในงานโกนจุก มีการเอาขันเชิงมาตั้งสำหรับญาติพี่น้อง แขกที่ไปร่วมงานเอาเงินหรือสิ่งของเครื่องรูปพรรณใส่ลงในขัน เป็นการทำขวัญเด็กที่โกนจุก เรียกว่า ลงขัน ในประกาศรัชกาลที่ 5 เรื่องสมโภชรับพระสุพรรณบัฏมีความตอนหนึ่งว่า ส่วนซึ่งสมโภชใช้แรงกันในส่วนเฉพาะพระองค์ ๆ ก็คงจะมีกันอยู่ได้เป็นการเหมือนลงแขกกันในส่วนพระองค์ นี้ก็คือถวายของขวัญประเพณีลงขันปัจจุบันนับว่าหมดไป แต่มีการของขวัญอย่างที่นิยมทำกันทุกวันนี้ แต่คำว่า ลงขันได้มีการนำมาใช้ในความหมายอื่น ไม่ได้หมายถึงการให้ของขวัญ แต่เป็นการออกเงินช่วยเหลือกันทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น พวกเราลงขันซื้อเตาไมโครเวฟไว้ใช้ที่หอพักสักเครื่องไหม  หรือ ไปเที่ยวกันครั้งนี้เราลงขันเอาไว้เป็นค่าอาหารกันดีกว่า อย่างนี้เป็นต้น