16-02-2560

ภาษาไทยใช้ให้ถูก

ภาษาไทยใช้ให้ถูก จิ๊กโก๋ จิ๊กกี๋

ย้อนอดีตไปในยุค 60 ปีก่อน ผู้คนสมัยนั้นย่อมรู้จักคำว่า จิ๊กโก๋ จิ๊กกี๋ กันอย่างแน่นอน บางคนถึงกับตั้งฉายาให้ตัวเองว่า โก๋หลังวัง กันเลยทีเดียว คำว่า จิ๊กโก๋ หมายถึง ผู้ชายวัยรุ่นที่ไม่เอางานเอาการ มักแต่งตัวตามความนิยมเฉพาะกลุ่ม ชอบเที่ยวเตร่และจีบผู้หญิง เช่น ซอยนี้เขาว่ามีจิ๊กโก๋คุมซอยอยู่นะ หรือ มีแฟนเป็นจิ๊กโก๋ พ่อแม่เธอไม่ว่าอะไรเหรอ

จิ๊กโก๋ คำนี้เชื่อว่ามาจากคำภาษาอังกฤษว่า gigolo แล้วก็เพี้ยนมาเป็นจิ๊กโก๋ ส่วนคำว่า จิ๊กกี๋ ก็เป็นคำที่เลียนคำว่า จิ๊กโก๋ มาอีกที ใช้กับผู้หญิงที่เป็นสาววัยรุ่นที่แต่งตัวตามสมัยนิยมมีลักษณะก๋ากั่น ชอบเที่ยวเตร่ เช่น มีลูกสาวเป็นจิ๊กกี๋ คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็กลุ้มใจ  ในยุคปัจจุบันนี้เราจะไม่ค่อยพบหรือได้ยินใครพูดถึงคำว่า จิ๊กโก๋ จิ๊กกี๋ กันอีกแล้ว ทั้งนี้ก็เป็นเพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป ภาษาก็มีการเปลี่ยนแปลงไปได้เช่นกัน

ภาษาไทยใช้ให้ถูก ไอซียู ซีซียู

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินคำว่า ไอซียู หรือ ซีซียู กันมาบ้างแล้ว ทั้งสองคำนี้ไม่ใช่คำใหม่หรือคำที่ใช้ในโซเชียลมีเดียแต่อย่างใด ไอซียู และ ซีซียู สองคำนี้พบได้ในโรงพยาบาล ไอซียู เป็นคำย่อมาจาก ภาษาอังกฤษว่า Intensive Care Unit (ICU) ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็คือ ห้องที่ใช้เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพเข้าขั้นวิกฤติ หรือที่เรียกว่า ผู้ป่วยวิกฤตินั่นเอง เช่น คนไข้อาการหนักมากจนต้องอยู่ไอซียู ส่วนคำว่า ซีซียู ก็เป็นคำย่อมาจากภาษาอังกฤษเช่นกัน ย่อมาจาก Colonary Care Unit ซีซียู เป็นห้องที่ใช้ทำการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะ ที่มีความรุนแรงถึงขั้นวิกฤติ เช่น เขาถูกหามส่งโรงพยาบาลเข้าห้องซีซียูด่วนเพราะโรคหัวใจกำเริบอาการหนักมาก ทั้งห้อง ไอซียู และ ซีซียู ถือเป็นห้องปลอดเชื้อ จึงไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในห้อง เพราะอาจรบกวนการทำงานของแพทย์นั่นเอง

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก สำนวน หนาม

 

หนาม เป็นส่วนแหลมๆที่งอกออกจากต้นหรือกิ่งของไม้บางชนิดเป็นต้น เช่น หนามงิ้ว หนามพุทรา หนามกุหลาบ ซึ่งได้มีการนำเอาลักษณะของหนามของต้นไม้มาเรียกสิ่งของเครื่องใช้ที่มีลักษณะคล้ายกับหนามว่า หนามเตยค่ะ  เนื่องจากหนามมีลักษณะแหลมคม เมื่อทิ่มหรือตำใครเข้าแล้ว ผู้ที่ถูกหนามทิ่มตำจะเจ็บปวด จึงได้นำเอาลักษณะเช่นนี้มาผูกเป็นสำนวนซึ่งมีอยู่หลายสำนวนค่ะ เช่น หนามยอกอก หมายถึง คนหรือเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกเหมือนมีอะไรทิ่มแทงอยู่ในอกตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น ฉันทนอยู่ร่วมบ้านกับนางไม่ได้แล้ว มันเหมือนมีหนามยอกอกยังไงไม่รู้ สำนวนต่อมา คือ หนามยอกเอาหนามบ่ง มีความหมายว่า ตอบโต้หรือแก้ด้วยวิธีการทำนองเดียวกัน เช่น เรื่องนี้ฉันว่ามันต้องใช้วิธีหนามยอกเอาหนามบ่งมันถึงจะสมน้ำสมเนื้อ และสำนวน ว่า หนามแหลมไม่มีใครเสี้ยม หมายถึง คนที่มีปฏิภาณไหวพริบตามธรรมชาติโดยไม่ต้องมีใครสอน มักใช้เข้าคู่กับมะนาวกลมเกลี้ยงไม่มีใครกลึง ตัวอย่างเช่น แม้เขาจะไม่ได้ร่ำเรียนอะไรมากมาย แต่ก็เป็นคนฉลาดหลักแหลมมาก นี่ละที่เขาว่า หนามแหลมไม่มีใครเสี้ยม