16-03-2560

ภาษาไทยใช้ให้ถูก

ภาษาไทยใช้ให้ถูก คว่ำบาตร

   แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว วัดกับบ้าน ถือเป็นสถาบันที่ต่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งมีผู้ได้แต่งกลอนไว้ดังนี้ วัดจะดีมีหลักฐานเพราะบ้านช่วย บ้านจะสวยเพราะมีวัดดัดนิสัย บ้านกับวัดผลัดกันช่วยอำนวยชัย ถ้าขัดกัน ก็บรรลัยทั้งสองทาง ...จากบทกลอนนี้แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดกันระหว่างวัดกับบ้าน พระกับฆราวาส จึงเป็นที่มาของสำนวนไทยที่ได้มาจากพระ หรือ วัด คือ คว่ำบาตร บาตรก็คือภาชนะใส่อาหารสำหรับพระภิกษุสามเณร

   คว่ำบาตร ความหมายคือ ไม่ยอมคบค้าสมาคมด้วย ในพระวินัยสงฆ์ หมายถึง คณะสงฆ์ทำสังฆกรรมไม่ให้พระภิกษุรูปหนึ่งรูปใดไปรับบาตรบ้านทายกทายิกาผู้กล่าวติเตียนพระรัตนตรัย แปลง่าย ๆ ก็คือ การปฏิเสธ ไม่ยอมรับ นั่นเอง

   สำนวน คว่ำบาตร นี้เอาเข้าจริง เราก็ไม่ค่อยได้เห็นว่ามีใช้ในวงการสงฆ์ แต่กลับกลายเป็นว่า เป็น เรื่องการเมืองระหว่างประเทศเสียมากกว่า เช่น ประเทศนั้นประเทศนี้รวมตัวกันประกาศคว่ำบาตรประเทศที่เล่นนอกกติกา ซึ่งเราจะพบจากข่าวต่างประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก ไม่เต็มบาท

   ท่านผู้อ่านได้รู้จักสำนวนที่มีที่มาจากวัดว่า คว่ำบาตร กันไปแล้ว แต่ยังมีสำนวนที่เกี่ยวกับคำที่ออกเสียงว่า บาทเหมือนกัน แต่ไม่ใช่บาตร ภาชนะใส่อาหารสำหรับภิกษุสามเณร แต่เป็น บาท ที่หมายถึงเงินบาทนั่นเอง สำนวนที่ว่านี้คือ ไม่เต็มบาท หนึ่งบาทมี 4 สลึงหรือ 100 สตางค์ ถ้าหากขาดไป 1 สตางค์ ก็ไม่เต็มบาท เงินที่มีค่าไม่เต็มบาทนี้ก็เปรียบเหมือนคนที่มีสติไม่สมบูรณ์ หรือสติไม่เต็มร้อย มีการนำเอาเรื่องของเงินมาเปรียบกับคนที่มีสติไม่สมบูรณ์ว่า คนไม่เต็มบาท  ไม่เต็มบาทนี้บางทีเราก็ใช้ว่าไม่เต็มเต็ง เต็ง คือ ตาชั่งแบบจีน ไม่เต็มเต็งคือไม่เต็มตาชั่ง นอกจากนี้แล้ว ไม่เต็มบาท เรายังใช้ว่า สามสลึงเฟื้อง ก็มีค่ะ