02-08-2560

วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม "โรคที่มากับน้ำท่วม"

ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยอย่างรุนแรง ทั้งภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งโรคและภัยสุขภาพที่มาพร้อมกับน้ำท่วม เช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคติดเชื้อ แมลงมีพิษกัดต่อย และไฟฟ้าดูด โรคติดเชื้อที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือโรคอุจจาระร่วง โรคน้ำกัดเท้า และโรคตาแดง จากข้อมูลการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 1 สิงหาคม 2560 พบทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงแล้ว 608,637 ราย และผู้ป่วยโรคตาแดง 65,454 ราย
 

โรคอุจจาระร่วง มีสาเหตุจากอาหารสุกๆ ดิบๆ ค้างคืน มีแมลงวันตอม หรือดื่มน้ำมีเชื้อโรคปนเปื้อนโดยผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้ง/วัน หรือมากกว่า หรือถ่ายมีมูกหรือปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง อาเจียนบ่อยกินอาหารไม่ได้ กระหายน้ำกว่าปกติ มีไข้สูง การป้องกันทำได้โดยยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” โดยรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่สะอาด อาหารค้างมื้ออุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานใหม่ หากมีรสหรือกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทานเด็ดขาด และหมั่นล้างมือบ่อยๆ ก่อนหลัง รับประทานอาหารและหลังขับถ่าย หรือสัมผัสสิ่งสกปรก ไม่ถ่ายอุจจาระลงน้ำเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค ที่สำคัญควรปฏิบัติตนให้ถูกหลักสุขอนามัย
 

โรคตาแดง เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุตา มักมีอาการตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล เจ็บตา ขี้ตามาก ตาบวมจะเป็นอยู่ประมาณ 5 -14 วัน ติดต่อโดยการสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคตาแดง การใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
หรือน้ำสกปรกเข้าตา ป้องกันโดยการล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ อย่าให้แมลงหวี่หรือแมลงวันตอมตาหมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย เครื่องใช้ ไม่ควรลงเล่นน้ำในสระหรือคลอง เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคแพร่กระจายในน้ำหากป่วย ไม่ควรซื้อยามาหยอดเอง ควรรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที

 

โรคน้ำกัดเท้า ซึ่งเกิดจากเชื้อราจากการที่เท้าแช่อยู่ในน้ำที่สกปรกเป็นเวลานาน หรือมีความชื้นที่เท้าอยู่ตลอดเวลา เป็นอาการทางผิวหนังที่พบบ่อยในช่วงที่มีน้ำท่วมขังทำให้ผิวหนังซอกนิ้วเท้าแดง ขอบนูนเป็นวงกลมและคัน หากเกา แผลจะแตก และมีน้ำเหลืองเยิ้มออกมา วิธีป้องกันคือ ควรหลีกเลี่ยงการเดินในที่ที่มีน้ำท่วมขัง หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ท และเช็ดเท้าให้แห้งทุกครั้งหลังขึ้นจากน้ำหากผิวหนังเริ่มเปื่อย เกิดตุ่มคัน หรือมีบาดแผล ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรักษาอาการดังกล่าวก่อนที่จะลุกลามจนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน