27-12-2560

ภาษาไทยใช้ให้ถูก

ภาษาไทยใช้ให้ถูก นอกครู นอกคอก

“เป้ได้ยินว่าอาจารย์เอ็ดแกว่าเป็นศิษย์นอกครูเหรอ แต่ฉันว่า นอกครู ก็ยังดีกว่า นอกคอกนะ” ประโยคที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้มีคำว่า นอกครู กับ นอกคอก เห็นว่าน่าจะนำมาบอกกล่าวกันให้รู้ความหมาย อย่างถูกต้อง นอกครู กับ นอกคอก ตามรูปศัพท์มีความเหมือนกันตรงคำว่า นอก ต่างกันตรง ครู กับ คอก ความหมายแม้จะแตกต่างกันแต่ก็มีความใกล้เคียงกันอ นอกครู หมายถึง ประพฤติแตกต่างไปจากแบบแผนที่ยึดถือปฏิบัติกันมา ไม่ประพฤติตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ ตัวอย่างเช่น เป้บอกว่าเขาไม่ใช่ศิษย์นอกครู แต่เขานำความรู้ที่ร่ำเรียนมาประยุกต์ใช้ต่างหาก

ส่วนคำว่า นอกคอก มีความหมายว่า ประพฤติไม่ตรงตามแบบตามธรรมเนียมประเพณีของบรรพ- บุรุษ หรือ ไม่ประพฤติตามกฎระเบียบของหมู่คณะ ตัวอย่างเช่น อย่าทำตนเป็นคนนอกคอกเลย ให้นึกถึง หัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่บ้าง เป็นต้น

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก จำกัด กำจัด

คำในภาษาไทยหลายคำมีเสียงใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดปัญหาการใช้คำไม่ตรงกับความหมายที่ ต้องการ ดังเช่นคำว่า จำกัด และ กำจัด จำกัด เป็นคำกริยา หมายถึง กำหนดหรือขีดคั่นไว้โดยเฉพาะ เช่น จำกัดอายุ จำกัดความรู้ จำกัดงบประมาณ ตัวอย่างเช่น การไปศึกษาดูงานครั้งนี้เราต้องจำกัดจำนวน คนเพราะงบประมาณมีจำกัด

ส่วนกำจัด เป็นคำสองความหมาย ความหมายแรกเป็นคำนาม หมายถึง ชื่อต้นไม้ขนาดกลางชนิด หนึ่งต้นและกิ่งก้านเป็นหนาม มีใบย่อย 6-8 คู่ ผลเล็กๆ ขนาดเมล็ดพริกไทย ผิวขรุขระมีกลิ่นฉุนคล้าย กลิ่นผักชียี่หร่า เมล็ดกลมๆ ดำเป็นมัน ใช้ผลผสมเป็นเครื่องแกงปรุงให้ชูรส ส่วนกำจัด ที่เป็นคำกริยา หมายถึง ขับไล่ ปราบ ทำให้สิ้นไป

บางครั้งจะพบว่ามีผู้ใช้คำจำกัด กับ กำจัด สลับกัน โดยเฉพาะเมื่อเป็นภาษาพูด โอกาส ผิดพลาดจึงเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเป็นภาษาเขียน ตัวอย่างการใช้คำ จำกัด และ กำจัด เช่น เมื่อเราไม่ สามารถกำจัดคนไม่ดีให้หมดไปได้ เราก็ควรจำกัดจำนวนไม่ให้มีคนคนไม่ดีเพิ่มมากขึ้น

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก การมีมาก

ภาษาไทยเรามีคำที่ใช้แสดงให้เห็นถึงการมีปริมาณมากอยู่หลายคำทีเดียวนะคะ นับเป็นความร่ำรวยถ้อยคำของภาษาไทยนั่นเองค่ะ คำที่เราใช้บอกให้รู้ว่าสิ่งนี้สิ่งนั้นมีอยู่มาก เช่น มากมาย มหันต์ เยอะ แยะ เยอะแยะ อนันต์ ชุก ชุม ชุกชุม ดก อุดมสมบูรณ์ เพียบ เป็นก่ายเป็นกอง เป็นกอบเป็นกำ เนืองนอง โข อักโข บานตะเกียง บานตะไท บานเบิก พะเรอเกวียน อื้อ และอื้อซ่า

แม้ว่าคำที่ยกมาเหล่านี้จะมีความหมายว่า มาก แต่บางคำก็เป็นคำที่ใช้เฉพาะสิ่งอย่าง ไม่สามารถใช้ได้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ยกตัวอย่าง คำว่า มหันต์ อนันต์ ดก ชุก ชุม อุดมสมบูรณ์ เนืองนอง เป็นต้น

มหันต์ คำนี้ใช้กับสิ่งที่เป็นโทษ เช่น โทษมหันต์ อนันต์ มักใช้กับสิ่งที่มีประโยชน์ ให้คุณ เช่น ยานี้มีคุณอนันต์

ดก มักใช้กับสิ่งที่เกิดมีขึ้นตามธรรมชาติ เช่น ดอกดก ผลดก ลูกดก ผมดก ชุก มักใช้กับฝน งาน และ ผลไม้ที่มีตามฤดูกาล เช่น ปีนี้ฝนชุกนะ หมู่นี้งานเขาชุกเป็นพิเศษ

เลยไม่ค่อยมีเวลาให้ครอบครัว ชุม มักใช้กับสัตว์ แมลง และผู้ประพฤตมิชอบ เช่น น้ำเน่ายุงจึงชุม ป่าแถบนี้เสือชุมนะ หรือ กลางค่ำกลางคืนอย่าออกไปไหนเลย แถวนี้โจรชุม

อุดมสมบูรณ์ มักใช้กับอาหาร เช่น ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ เนืองนอง มักใช้กับทรัพย์สินที่มีมากต่อเนื่องไม่ขาดสาย เช่น เขามีทรัพย์สินเนืองนองแล้วยังไม่รู้จักพอ ไม่รู้จะโลภไปไหน อย่างนี้เป็นต้น