28-02-2561

วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม "PM 2.5 คืออะไร"

 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2560 ที่ผ่านมา เราจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับวิกฤตหมอกควัน มลภาวะทางอากาศ และ PM 2.5 กันอย่างคุ้นหู แล้วมันคืออะไร มาจากไหน และมีผลกระทบกับเราไหม หรือ มีผลเฉพาะกับคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น เราจะมาหาคำตอบกัน 
         PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ มีขนาดเล็กกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมของคนเราถึง 25 เท่า เมื่อเราสูดอากาศที่มีฝุ่นนี้เข้าไป มันจึงสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอด และกระแสเลือดโดยตรง ก่อให้เกิดอันตรายต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกาย และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังได้
         ฝุ่น PM 2.5 แบ่งได้เป็นฝุ่นที่เกิดจากแหล่งกำเนิดโดยตรงและฝุ่นที่เกิดจากการรวมตัวของก๊าซและมลพิษอื่นๆ ในบรรยากาศ ซึ่งแหล่งกำเนิดโดยตรงของฝุ่น PM 2.5 นั้นมาจาก 
1) การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากการคมนาคมขนส่ง ซึ่งนอกจากจะสร้าง PM 2.5 แล้ว ยังเป็นแหล่งกำเนิดของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) อีกด้วย 
2) การเผาในที่โล่ง เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก พบมากในเขตภาคเหนือและภาคอีสาน 
3) การผลิตไฟฟ้า ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 น้อยกว่าการคมนาคมขนส่งและการเผาในที่โล่ง แต่กลับสร้างก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) สู้ชั้นบรรยากาศมากที่สุด
4) อุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเกิดจากสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากสารเคมีและอุตสาหกรรม มักพบในเขตพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม
สำหรับฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังปกคลุมทั่วกรุงเทพมหานครนั้น มีสาเหตุหลักมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากการคมนาคมขนส่ง และการเคลื่อนตัวของมลพิษจากที่อื่นๆ เช่น เขตโรงงานอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษและกรีนพีช พบว่า ในปี 2560 นอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว ยังมีจังหวัดสระบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ และสมุทรสาคร ที่ต้องเผชิญกับมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 มากเป็น 5 ลำดับแรกของประเทศไทย 
         สำหรับอันตรายของ ฝุ่น PM 2.5 ต่อสุขภาพนั้น ขึ้นอยู่ความเข้มข้น ระยะเวลาที่สัมผัส และสภาพร่างกายของผู้ที่ได้รับแต่ละคนด้วย เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ซึ่งมีภูมิต้านทานต่ำ และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ อาจได้รับกระทบมากกว่าผู้ใหญ่ที่สุขภาพดี เป็นต้น ซึ่งฝุ่นควันที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ที่เกิดจากการเผาไหม้จะส่งผลกระทบ ทำให้มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ทางผิวหนัง อาการทางตา ทำให้เกิดโรคหัวใจมากขึ้นด้วย โดยฝุ่นจะเข้าไปยังปอดในถุงลม เมื่อสิ่งแปลกปลอมเข้าไปทำให้เม็ดเลือดขาวเข้าไปกำจัดสิ่งแปลกปลอมนี้ และเกิดการอักเสบในหลอดเลือดได้ ก่อให้เกิดอันตรายต่อปอด เช่น การอักเสบของถุงลมปอด และบางรายอักเสบมากจนทำให้เกิดการหายใจลำบากจนถึงขั้นวิกฤต หรืออาจทำให้หลอดเลือดหัวใจอักเสบได้ นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ตั้งแต่ปี 2556 อีกทั้งยังเป็นสาเหตุให้ 1 ใน 8 ของประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอีกด้วย
เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ ควรปฏิบัติตากคำแนะนำ ดังนี้
1. ควรปิดประตู หน้าต่าง เพื่อป้องกันไม่ให้หมอกควันลอยเข้าสู่บ้าน
2. หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น
3. ก่อนออกจากบ้านควรสวมแว่นตา เพื่อป้องกันการระคายเคืองตา และสวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละอองที่เหมาะสม
4. หลีกเลี่ยงการสูดดมละอองควันไฟเข้าสู่ร่างกายโดยตรง และลดปริมาณการสูดดมพิษจากฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย
5. หากมีอาการผิดปกติหลังจากสูดดมฝุ่นละอองหมอกควัน เช่น แน่นหน้าอก หายใจติดขัด แสบตา ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
6. ในช่วงที่มีสถานการณ์หมอกควัน ควรงดการรองน้ำฝนมาใช้เพื่อการอุปโภคชั่วคราว
7. หลีกเลี่ยงการเผาขยะหรือวัสดุใด ๆ รวมถึงการสูบบุหรี่ที่จะเป็นการเพิ่มปัญหาควันมากขึ้น
8. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายใด ๆ หรือกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากในบริเวณกลางแจ้ง
9. หากขับขี่ยานพาหนะในช่วงที่มีหมอกควันควรเปิดไฟหน้ารถเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
10. ประชาชนกลุ่มเสี่ยงหรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ควรเตรียมยาประจำตัวให้เพียงพอ และหากเกิดปัญหาสุขภาพควรพบแพทย์
         ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 และมลภาวะทางอากาศอื่นๆ เป็นอันตรายต่อสุขภาพของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น จากการคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้าเพื่อให้พวกเราใช้ โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตเครื่องอุปโภค บริโภคต่างๆ เป็นต้น และเราก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหานี้ได้เช่นกัน โดยการลดการเผาในที่โล่ง หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และผลักดันให้ภาครัฐมีมาตรการควบคุมการปล่อยสารพิษของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหามลภาวะอย่างจริงจัง 

 

ขอบคุณบทความจาก https://goo.gl/gDNKPo