09-01-2562

ภาษาไทยใช้ให้ถูก

ภาษาไทยใช้ให้ถูก เอาอยู่

   เมื่อปี 2554 ท่านผู้อ่านคงจะยังจำเหตุการณ์น้ำท่วมกันได้อยู่ เพราะบางท่านก็อาจประสบภัยด้วยตนเองน้ำท่วมในครั้งนั้นเรียกกันว่ามหาอุทกภัย เพราะเป็นอุทกภัยรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำโขง เหตุเกิดตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2554 และไปสิ้นสุดเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2555 น้ำท่วมในครั้งนั้นได้เกิดคำพูดที่ใครต่อใครมักจะนำเอามาล้อเลียนกันอย่างสนุกปาก คำพูดนั้นคือ เอาอยู่

อันที่จริง คำว่า เอาอยู่ นี้มีใช้กันมานานแล้ว และก็มีหลายความหมายด้วยค่ะ ความหมายแรกของคำว่า เอาอยู่ คือ เอาการ เอาเรื่อง เช่น ระยะทางไกลเอาอยู่ หรืออาจจะใช้ในลักษณะปรารภเชิงขอความเห็นหรือแสดงความหนักใจเป็นต้น มักใช้ว่า เอาอยู่นะ เช่น ปัญหานี้ยากเอาอยู่นะ

อีกความหมายหนึ่งของคำว่า เอาอยู่ หมายถึง ปกครองได้ ควบคุมได้ เช่น เด็กคนนี้เกเรมาก เธอ คิดว่าจะเอาอยู่ไหม ในช่วงขณะที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 นั้น ผู้นำประเทศของเราได้ใช้ว่า เอาอยู่ กับสถานการณ์น้ำท่วม ความหมายของเอาอยู่ในตอนนั้น คือ จัดการได้ ควบคุมได้ หรือ รับมือได้นั่นเองค่ะ

ภาษาไทยใช้ให้ถูก ก๊วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยว

   ได้พบเห็นในสื่อโซเชียลมีเดียมีการนำข้อความมาโพสต์ลงในเฟซบุ๊กว่า เดี่ยวนี้ก๋วยเตี๋ยว เขียนได้อ่านได้สองแบบแล้วหรือ คือ ก๊วยเตี๋ยว และ ก๋วยเตี๋ยว ซึ่งตามปกติเรามักจะคุ้นเคยกับคำว่า ก๋วยเตี๋ยว ก๋วย เสียงจัตวา เช่น ก๋วยเตี๋ยวเรือ ก๋วยเตี๋ยวหมูต้มยำ หรือ ก๋วยเตี๋ยวแคะ พอมาพบว่ามีการบอกกล่าวกันว่า ก๋วยเตี๋ยว เรียกก๊วยเตี๋ยว ก๊วย เสียงตรี วรรณยุกต์ตรี จึงเปิดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานพุทธศักราช 2554 ก็ได้พบกับคำอธิบาย

ไว้ดังนี้ค่ะ

ก๊วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยว ชื่อของกินชนิดหนึ่งทำด้วยแป้งข้าวเจ้าเป็นเส้น ๆ ถ้าลวกสุกแล้วปรุงด้วยเครื่อง มีหมูเป็นต้น เรียกว่า ก๋วยเตี๋ยวแห้ง ถ้าใส่น้ำซุป เรียกว่า ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ถ้านำเส้นมาผัด เราก็เรียกว่าก๋วยเตี๋ยวผัดค่ะ

ก๋วยเตื๋ยว คำนี้มาจากภาษาจีน แต่ก่อนหน้านี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2542 ได้เก็บคำ ก๋วยเตี๋ยว ไว้เพียงคำเดียว แบบเดียวค่ะดังนั้นในปัจจุบันนี้ถ้าพบเจอใครเขียนหรือออกเสียงว่า ก๊วยเตี๋ยว หรือ ก๋วยเตี๋ยวก็ต้องถือว่าถูกต้องทั้งสองคำค่ะ