28-01-2562

ภาษาไทยใช้ให้ถูก

ภาษาไทยใช้ให้ถูก หลงใหล

   วันนี้นำคำที่ออกเสียงไอที่สร้างความสับสนให้แก่ผู้ใช้ภาษาไทยอยู่ไม่น้อยเลย มาบอกเล่าให้ทราบกัน ในภาษาไทยเรามีสระไอ อยู่สองรูป คือ สระไอไม้มลาย (ไ) และ สระไอไม้ม้วน (ใ) ทั้งนี้ยังไม่นับคำที่ออกเสียง ไอ ซึ่งมีทั้ง ไอย และ อัย

   ที่ต้องนำคำที่ประสมด้วยสระไอไม้มลาย และสระไอไม้ม้วนมากล่าวถึงนี้ เพราะได้ไปพบเห็นจากนิตยสารท่องเที่ยวฉบับหนึ่ง ในคอลัมน์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวนั้นมีคำว่า หลงใหล แต่ผู้เขียนเขียนเป็นหลงไหล ซึ่งไม่ถูกต้อง หากใครท่องกาพย์ยานีเรื่องการใช้สระไอไม้ม้วนซึ่งมีอยู่ 20 คำได้ ก็จะทำให้การใช้สระไอไม้ม้วน กับสระไอไม้มลายไม่ผิดพลาดสระไอไม้ม้วน 20 คำ มีดังนี้

ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ  ใฝ่ใจเอาใส่ห่อ มิหลงใหลใครขอดู

จะใคร่ลงเรือใบ ดูน้ำใสและปลาปู   สิ่งใดอยู่ในตู้ มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง

บ้าใบถือใยบัว หูตามัวมาใกล้เคียง   เล่าท่องอย่าละเลี่ยง ยี่สิบม้วนจำจงดี

ถ้านอกเหนือจากสระไอไม้ม้วน 20 คำนี้แล้ว คำที่ออกเสียงไอ อื่น ๆ ก็ต้องเป็นสระไอไม้มลาย เช่น เหลวไหล ลำไย หยากไย่ ไยไพ พาไล ฯลฯ

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก สังกะตัง

   หลายวันก่อนผู้เขียนยืนอยู่ที่ระเบียงได้ยินคุณแม่ข้างบ้านบอกลูกสาวซึ่งยังเป็นเด็กประถมว่า “โตแล้ว ผมเผ้าก็ รู้จักหวีซะบ้าง ปล่อยเป็นสังกะตังอยู่ได้” ลูกสาวได้ยินแม่บอกเช่นนั้นก็ย้อนถามแม่ว่า อะไรคือสังกะตัง ไม่เข้าใจ หลังจากนั้นไม่รู้ว่าคุณแม่จะบอกสอนลูกว่าอย่างไร เพราะว่าผู้เขียนเดินเข้าบ้านไปเสียก่อน แต่นึกขึ้นมาได้ว่าควรนำคำสังกะตังมาบอกเล่าในรายการภาษาไทยใช้ให้ถูก เพราะเชื่อว่าไม่เพียงแต่เด็กชั้นประถมจะไม่เข้าใจ แม้คนที่โตแล้วบางคนก็อาจไม่เข้าใจได้เช่นกัน

   คำว่า สังกะตัง เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง ลักษณะที่ติดแน่นเป็นปมเหนียวที่ผม หรือ ขนสัตว์จนสางไม่ออก เช่น ผมเป็นสังกะตัง หรือ ขนเจ้าชิสุเป็นสังกะตังแล้วอาบน้ำแปรงขนให้มันบ้างสิ อย่างนี้เป็นต้น

สังกะตัง จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเราไม่รู้จักดูแลเส้นผม ไม่สระผม ไม่หวีผม ปล่อยให้ผมพันกัน หรือ จับกันเป็นปึก และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคผิวหนังที่หนังศีรษะได้อีกด้วย

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก ยำ

   วันนี้มีเรื่องของคำว่า ยำ มาฝากท่านผู้อ่านกันนะคะ ยำ เป็นคำกริยา หมายถึง เคล้าคละ ปะปน เมื่อเป็นคำนาม หมายถึง ชื่อกับข้าวอย่างหนึ่งที่ปรุงโดยเอาผักและเนื้อสัตว์เป็นต้นมาเคล้าเข้าด้วยกัน เช่น ยำเนื้อ ยำวุ้นเส้น ยำปลาทู ยำเหล่านี้ที่เอ่ยมามีชื่อเรียกที่ตรงกับวัตถุดิบที่นำมาใช้ยำ ยำเนื้อ ก็มีเนื้อเป็นหลัก ยำปลาทู ก็ใช้ปลาทูเป็นหลัก แต่ยังมียำอีกหลายชนิดที่มีชื่อเรียกไม่ตรงกับวัตถุดิบที่นำมาใช้ยำ เป็นต้นว่า ยำขโมย ยำทวาย ยำใหญ่ หรือยำสลัด ค่ะ

ยำขโมย หมายถึง ยำเนื้อย่างใส่แตงกวา ปรุงรสเปรี้ยว เค็ม เผ็ด

ยำทวาย เป็นยำที่ใช้วัตถุดิบเป็นผักลวกเสียส่วนใหญ่ เช่น ผักบุ้ง หัวปลี ถั่วงอก ถั่วฝักยาว ราดด้วยน้ำยำที่ใช้หัวกะทิผัดกับพริกแกง มีรสเปรี้ยว หวาน เค็ม และโรยงาคั่ว

ยำใหญ่ คือ ยำที่ใส่แตงกวา ไข่ต้ม กุ้งต้ม หมูต้ม หนังหมู เห็ดหูหนู หัวผักกาดขาว กระเทียมดองวุ้นเส้น เป็นต้น ปรุงให้มีรสเปรี้ยว เค็ม หวาน และ ยำสลัด เป็นยำชนิดหนึ่งตามแบบตะวันตก ประกอบด้วยผักสดหลายชนิด เช่น ผักกาดแก้ว หอมใหญ่ มะเขือเทศ แตงกวา เป็นหลัก อาจมีเนื้อสัตว์หรือไข่ด้วย แล้วราดด้วยน้ำปรุงรสที่เรียกว่าน้ำสลัดซึ่งมีนานาชนิด

 

 

ยำใหญ่ ยำทวาย
 

 

 

 

 

ภาพประกอบจากนิตยสาร แม่บ้าน