15-07-2562

ภาษาไทยใช้ให้ถูก

ภาษาไทยใช้ให้ถูก กลัวดอกพิกุลร่วง

พิกุล เป็นไม้ต้นชนิดหนึ่ง กลีบดอกจักแหลม กลิ่นหอมและหอมอยู่จนแห้ง ใช้ทำยาได้ เรามักพบเห็นต้นพิกุลได้ตามวัด ตามโรงเรียนมากกว่าที่จะปลูกกันตามบ้านเรือน เมื่อเอ่ยถึงพิกุลแล้วทำให้นึกถึงสำนวนไทยที่ว่า กลัวดอกพิกุลจะร่วง จึงไปหาที่มาที่ไปมาบอกเล่ากันให้ทราบทั่วกัน

กลัวดอกพิกุลจะร่วง เป็นสำนวนที่เข้าใจว่าน่าจะมาจากนิทานไทย เรื่อง พิกุลทอง มีเรื่องเล่าว่านางพิกุลทองเป็นราชธิดาของกษัตริย์ ตอนเป็นทารกพอร้องไห้ก็มีดอกพิกุลทองร่วงออกจากปาก โหรทายว่าเป็นกาลกิณี นางจึงถูกนำไปทิ้งไว้ใต้ต้นไม้ในป่า ชายเข็ญใจมาพบจึงเก็บนางไปเลี้ยงเป็นลูกจนนางโตเป็นสาวนางได้รับพรจากพระอินทร์ให้มีดอกพิกุลทองร่วงลงมาจากปากเวลาพูดถ้อยคำเป็นมงคล ตามความในเรื่องนางถูกอิจฉาจึงคับแค้นใจและระวังตัวไม่ค่อยจะพูดคงเป็นเพราะกลัวดอกพิกุลทองจะร่วงให้คนเห็นนั่นเอง จึงเป็นที่มาของสำนวนว่า กลัวดอกพิกุลจะร่วง แต่ใช้ในความหมายเชิงประชดประชัน เช่น ถามอะไรก็ไม่ตอบกลัวดอกพิกุลจะร่วงหรือไง อย่างนี้เป็นต้น

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก ธุดงค์

ท่านผู้อ่านคงจะเคยพบเห็นข่าวเรื่องพระธุดงค์ถูกช้างป่าทำร้ายกันมาแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้นานนับเดือนแล้วละค่ะ แต่ที่หยิบยกขึ้นมาบอกกล่าวกันในวันนี้คือ คำว่า ธุดงค์ นี่ละค่ะ ธุดงค์ คืออะไร ธุดงค์ คำนี้มาจากคำเต็มว่า ธุดงควัตร ซึ่งเป็นคำมาจากภาษาบาลีสันสกฤตว่า ธุต องฺค และ วรฺต รวมความกันแล้ว หมายถึง กิจอันผู้ถือธุดงค์พึงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อสลัดหรือกำจัดกิเลส

ธุดงค์มีทั้งหมด 13 ประการ เช่น การอยู่ป่า การอยู่โคนต้นไม้ เป็นต้น คำว่า ธุดงควัตร เรามักใช้ ว่า ธุดงค์ มากกว่า และ สถานที่หรือบริเวณที่สงัดเงียบที่กำหนดไว้เพื่อการบำเพ็ญธุดงค์เราก็เรียกว่า ธุดงคสถาน

ธุดงค์ ใช้ในภาษาพูดเป็นคำนามหรือคำกริยา หรือ คำขยายก็ได้ เช่น ในระหว่างธุดงค์นั้น ท่านพระครูไม่ให้ลูกศิษย์ตามไปด้วยเลย

พระธุดงค์ถูกโจรใจบาปทำร้ายพระภิกษุบางรูปเมื่อออกพรรษาแล้วจะออกธุดงค์ไปตามป่าเขา อย่างนี้เป็นต้น

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก โขลก ตำ หั่น ซอย

ด้วยความที่สมัยนี้คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยจะเข้าครัวทำอาหาร หรือเป็นลูกมือคอยช่วยคนในบ้านทำอาหารเหมือนกับคนในสมัยก่อน ดังนั้นจึงไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวกับคำศัพท์ที่ต้องใช้ในการทำอาหารกันสักเท่าไร หรือรู้ก็เพียงนิดหน่อย เช่น รู้จักคำว่า หั่น แต่ไม่รู้จักคำว่า ซอย รู้จักคำว่า ตำ แต่ไม่รู้จักคำว่า โขลก รู้จักคำว่า ปอก แต่ไม่รู้จักคำว่า ฝาน หรือ ปาด อย่างนี้เป็นต้น

เมื่อเราต้องการให้สิ่งไหนแหลก เราก็นำเอาใส่ลงในครกแล้วใช้สาก ตำ เช่น ตำน้ำพริกให้แหลก ตำข้าวสารให้ป่น แต่ โขลก เป็นการตำเพื่อให้แหลก ให้เข้ากันหรือให้เหนียว เช่น โขลกเครื่องแกงให้ละเอียด ให้ทุกอย่างเข้ากัน หรือ โขลกเนื้อปลากรายจนเหนียวหนึบหั่น หมายถึง เอาของวางลงบนเขียงแล้วใช้มีดตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ เช่น หั่นหมู หั่นผัก ซอย คือ การหั่นถี่ ๆ อย่างละเอียด เช่น ซอยใบมะกรูดไว้โรยหน้าผัดพริกขิง ซอยขิงไว้โรยหน้าโจ๊ก

ปอก เป็นการนำเปลือกหรือสิ่งที่ห่อหุ้มออก ผลไม้บางชนิดต้องใช้มีดปอกเปลือก เช่น ปอกมะม่วง หรือผักบางชนิดก็ต้องใช้มีดปอกเปลือก เช่น ปอกเปลือกบวบ ปอกผิวมะรุม ฝาน คือการใช้มีดหรือของมีคมมาเฉือนให้เป็นแผ่นบาง ๆ เช่น ฝานกล้วยเพื่อจะทำกล้วยฉาบ ปาด คือ การฝานบาง ๆ เอาส่วนที่ไม่ต้องการทิ้งไป เช่น มะม่วงผลนี้ตรงหัวเป็นจุดดำๆ เราก็ใช้มีดปาดมันออกไป แค่นี้ก็กินได้แล้ว