31-07-2562

ภาษาไทยใช้ให้ถูก

ภาษาไทยใช้ให้ถูก หญ้าฝรั่น

หญ้าฝรั่นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีการใช้มาตั้งแต่สมัยกรีกและโรมันโบราณ ราว 3,000 ปีมาแล้ว เป็นสมุนไพรเครื่องเทศที่มีราคาแพงมาก มากกว่าทองคำเสียอีกเมื่อเทียบกับน้ำหนัก ปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีราคาแพงอยู่ กล่าวมาถึงตรงนี้ บางท่านคงนึกออกแล้วว่า หมายถึง หญ้าฝรั่น (ออกเสียงว่าฝะหรั่น) นั่นเอง

หญ้าฝรั่น เป็นพืชล้มลุก เพาะพันธุ์ด้วยหัว ประเทศที่ปลูกหญ้าฝรั่นส่งออก ได้แก่ สเปน เยอรมัน ฝรั่งเศส อินเดีย และอิหร่าน โดยอิหร่านเป็นประเทศที่สามารถผลิตหญ้าฝรั่นที่มีคุณภาพ และมีปริมาณการผลิตมากที่สุดในโลก

หญ้าฝรั่น ในส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ทางยา เครื่องหอม และแต่งสีอาหารได้นี้ คือ ยอดเกสรเพศเมีย คำว่า ฝรั่น ภาษาอาหรับเรียก Za’faran ส่วนภาษาอังกฤษเรียก Saffron ภาษาไทยเรียก ฝรั่น (ฝะหรั่น) ค่ะ

 

ภาพประกอบจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก กระดี่ได้น้ำ

“เป็นสาวเป็นนางรู้จักเก็บอาการไว้บ้าง ไม่ใช่แสดงอาการออกนอกหน้าเหมือนปลากระดี่ได้น้ำ มันไม่งามรู้ไหม” สมัยที่ยังเป็นวัยละอ่อนเคยได้ยินผู้ใหญ่ในบ้านปรามพวกสาว ๆ ในบ้าน ซึ่งเมื่อโตมาจึงได้รู้ว่า กระดี่ได้น้ำนั้นเป็นสำนวนไทยที่มีมาแต่โบราณ

กระดี่ได้น้ำ ใช้เปรียบเทียบกับกิริยาของคนที่แสดงอาการดีใจหรือตื่นเต้นจนออกนอกหน้า แบบที่เรียกว่าไม่เก็บอาการ เช่น พอรู้ว่าจะได้ไปเที่ยวเมืองนอกตุ๊กติ๊กก็ดีใจราวกับกระดี่ได้น้ำ

ปลากระดี่ หลายคนอาจยังไม่รู้จัก ปลากระดี่เป็นปลาน้ำจืดมีลักษณะคล้ายปลาสลิด แต่ตัวเล็กกว่า พื้นลำตัวเป็นสีเทาเงิน มีอยู่ชุกชุมตามแหล่งน้ำที่น้ำไหลไม่แรง เช่น ลำคลอง หนอง บึง ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ในสมัยก่อนนี้ถ้าวิดน้ำในท้องร่อง เรือกสวน ไร่นา หรือแหล่งน้ำตื้น ๆ ก็มักจะได้ปลากระดี่ไปทำอาหาร ปลากระดี่ที่ตกปลักหรือค้างอยู่ในที่น้ำน้อยเพราะน้ำแห้งลง ถ้ามีน้ำใหม่ไหลมาลงไปเพิ่มมากขึ้น ก็จะแสดงอาการดีใจกระโดดไปมา และด้วยลำตัวคล้ายสีเงินเมื่อกระทบกับแสงแดด ก็ทำให้เห็นพฤติกรรมชัดเจน จึงนำมาเปรียบเทียบกับอาการดีใจของคนที่ตื่นเต้นอย่างระงับไว้ไม่อยู่